หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ ตปุสสะ-ภัลลิกะอุบาสก
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๑. ตปุสสะ-ภัลลิกะอุบาสก เอตทัคคะในฝ่ายผู้ถึงสรณะก่อน

เมื่อพระพุทธองค์ ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ ณ ภายใต้ร่ม พระศรีมหาโพธิ์แล้ว ประทับเสวยวิมุตติสุข ในสถานที่ต่าง ๆ รวม ๗ แห่ง ๆ ละ ๗ วัน และใน สัปดาห์ที่ ๗ อันเป็นสัปดาห์สุดท้าย พระพุทธองค์ประทับเสวยวิมุตติสุข ที่ภายใต้ร่มไม้เกตุ อัน ได้นามว่า “ราคายตนะ” นั้น

ขณะนั้น สมเด็จพระอมรินทราธิราช ทรงดำริว่า “พระผู้มีพระภาค ตั้งแต่ตรัสรู้แล้ว นับได้ ๔๙ วัน ถึงวันนี้ พระองค์ยังมิได้เสวยพระกระยาหาร และถ่ายพระบังคนเลย สมควรที่ พระองค์จะเสวยพระกระยาหาร และถ่ายพระบังคน” จึงนำผลสมออันเป็นทิพยโอสถ มาจาก เทวโลก เข้าไปถวาย พระพุทธองค์ทรงรับมาเสวย แล้วทำสรีรกิจลงพระบังคน แล้วท้าว สหัสนัยน์ ก็อยู่เฝ้าถวายการปฏิบัติพระพุทธองค์ด้วยกิจต่าง ๆ มีถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์ เป็นต้น

เทววาจิกอุบาสก (ทะเววาจิกะอุบาสก)
ครั้งนั้น มีพ่อค้าพานิชสองพี่น้อง ชื่อ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ นำสินค้าบรรทุกกองเกวียน เดินทางมาจากอุกกละชนบท ผ่านมาทางนั้น ด้วยอานุภาพแห่งเทวดาองค์หนึ่ง ซึ่งเคยเป็นญาติ กับสองพ่อค้าในอดีตชาติ เห็นสองพ่อค้าแล้วคิดว่า “พ่อค้าทั้งสองนี้ พากันลุ่มหลง วนเวียนอยู่ ในสังสารวัฏ สิ้นกาลช้านาน ควรที่เราจะสงเคราะห์ ให้ได้รับประโยชน์สุขอันอุดม” จึงบันดาล ให้โคพาเกวียนไปผิดทาง แล้วแสดงตนให้ปรากฏ กล่าวชี้แนะ ให้สองพ่อค้านำสัตตุก้อน สัตตุผง อันเป็นเสบียงทาง เข้าไปถวายพระผู้มีพระภาค

สองพ่อค้าก็ปฏิบัติตาม น้อมนำข้าวสัตตุก้อนสัตตุผล เข้าไปถวาย พบพระผู้มีพระภาค ผู้ประทับอยู่ภายใต้ร่มไม้เกตุ มีสรีระประกอบด้วย ทวัตติงสะมหาปุริสลักษณะ มีพระรัศมีรุ่งเรืองไม่เคยพบเห็นมาก่อน จึงคิดว่า “พระพุทธเจ้า เกิดขึ้นแล้วในโลก ซึ่งนับว่าเป็นบุญลาภ อันประเสริฐของพวกตนยิ่งนัก แล้วเข้าไปกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงทรงอนุเคราะห์รับบิณฑบาตไทยทาน เพื่อประโยชน์สุข แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ตลอดกาลนานเถิด”

พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “บาตรของตถาคต ได้หายไปก่อนวันตรัสรู้ ต้องรับข้าว มธุปายาสของนางสุชาดา ด้วยพระหัตถ์ หลังจากนั้นมา ยังมิได้เสวยกระยาหารเลย บัดนี้ สองพา นิชนำอาหารมาถวาย ตถาคตจะได้บาตรมาแต่ที่ไหน”

เมื่อพระพุทธองค์ทรงดำริอย่างนั้น ทันใดนั้น ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ได้นำบาตรศิลา สี เขียว องค์ละใบ มาจากทิศทั้ง ๔ น้อมเข้าไปถวาย

พระพุทธเจ้าประสานบาตร
พระผู้มีพระภาค ทรงดำริว่า “บรรพชิตรูปหนึ่ง ไม่ควรมีบาตรเกินกว่า หนึ่งใบ” จึง ทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง ๔ ใบนั้น ประสานเข้าเป็นใบเดียวกัน แล้วทรงรับข้าวสัตตุก้อน สัตตุผล ของสองพานิชด้วยบาตรนั้น

เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว นายพานิชสองพี่น้อง กราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระพุทธกับพระธรรมเป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต เนื่องด้วยขณะนั้น ยังไม่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก อุบาสกทั้งสองจึงได้นามว่า “เทววาจิกอุบาสก” นับเป็นอุบาสกคู่แรก และคู่เดียวในโลก ผู้ถึงรัตนะสองประการ

ก่อนที่อุบาสกทั้งสอง จะกราบทูลลากลับไปนั้น ได้ทูลขอสิ่งอันเป็นปูชนียวัตถุ เพื่อนำ ไปประดิษฐาน เป็นที่สักการบูชายังบ้านเมืองของตนสืบไป

พระพุทธองค์ ทรงยกพระหัตถ์ขึ้น ลูบพระเศียร พระเกษา ๘ เส้น ติดพระหัตถ์ออกมา จึงประทานให้แก่สองพ่อค้านั้น ตามประสงค์

พ่อค้าทั้งสองได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่า อุบาสกทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้ถึงสรณะก่อน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- +++ 


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก