หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)

พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
[ วัดราชบพิธ ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๐ ฉบับที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๐ )

ชาติกาลและชาติภูมิ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสนมหาเถระ) ท่านบิดาชื่อ บาง นิลประภา ท่านมารดาชื่อ ผาด นิลประภา เป็นบุตรคนที่ ๑ ในจำนวน ๓ คน ประสูติเมื่อวันพุธขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๔๐ เวลา ๑๙.๓๓ น. ที่บ้านตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บรรพชา-อุปสมบท
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๖ ปี ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๕๕ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นพระอุปัชฌายะ พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฺฒิญาโณ) วัดราชบพิธ เป็นศีลาจารย์ บรรพชาอยู่จนครบอุปสมบท

อุปสมบท ณ วัดราชบพิธสถิตมหามาราม เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๖๑ สมเด็จพระสังราชเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอุปัชฌายะ พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฺฒิญาโณ) วัดราชบพิธ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระญาณดิลก (รอด วราสโย) วัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นศีลาจารย์ มีพระฉายาว่า “วาสโน”

การศึกษา
เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษาภาษาไทยที่วัดข้างบ้าน และที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลอยุธยา พ.ศ. ๒๔๕๓ สอบเทียบได้ชั้นมัธยมปีที่ ๒
บรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาปริยัติธรรมตามลำดับ สอบได้เปรียญ ๔ ประโยค
สถาบันทางศึกษาทางพระพุทธศาสนา ได้ทูนถวายปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ๒ สถาบัน และรัฐบาลอินเดียได้อนุมัติปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอักษรศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยพาราณสี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาลกลาง เป็นผู้ดำเนินการประกอบพิธีทูลถวาย

สมณศักดิ์
ได้ทรงดำรงสมณศักดิ์ชั้นต่างๆ โดยลำดับดังนี้

๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นพระครูโฆสิตสุทธสร
๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นพระครูธรรมธร
๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นพระครูวิจิตรธรรมคุณ (ตำแหน่งฐานานุกรมของพระเจ้า วรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)

๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นพระจุลคณิศร พระราชาคณะสามัญปลัดซ้ายของพระเจ้า วรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)

๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชกวี
๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพโมลี
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปาโมกข์
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ ทรงพระกรุณาโปรด ฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระอริยวงศา คตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

หน้าที่การงาน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นต้นมา ได้ทรงดำรงตำแหน่งต่างๆ บริหารงานพระศาสนาการคณะสงฆ์ รวม ๒๘ ตำแหน่ง และสำคัญๆ ที่ได้ทรงปฏิบัติมาตลอดจนถึงอวสานกาลแห่งพระชนมชีพ คือ

เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ
ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
ประธานสภาการศึกษาของคณะสงฆ์
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
นายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
นายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย
ประธานคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการศาสนาและมนุษยธรรม
องค์อุปถัมภ์มูลนิธิสังฆประชานุเคราะห์
องค์อุปถัมภ์สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ
องค์อุปถัมภ์ศูนย์และชมรมพุทธศาสน์ ในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ อีก ๙ แห่ง
องค์อุปถัมภ์ศูนย์ธรรมศึกษาพิเศษโรงเรียนวิสุทธิกษัตรี-อาษาวิทยา
องค์อุปถัมภ์โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ)
องค์อุปถัมภ์สถานสงเคราะห์คนชรา “วาสนะเวศม์”
องค์อุปถัมภ์มูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ)
องค์อุปถัมภ์มูลนิธิ “วาสนะเวศม์”
งานเผยแผ่ศาสนธรรม
เทศนาประจำวันพระในพระอุโบสถ
บรรยายสวดมนต์มีคำนำแบบมคธ ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประจำวันพระ แรม ๘ ค่ำ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึง มิถุนายน ๒๕๑๗

แต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เคยได้รับพระราชทานรางวัลชั้นที่ ๑ รวม ๒ ครั้ง ที่ ๒ ๑ ครั้ง คือ

เรื่อง ทิศ ๖ (รางวัลชั้นที่ ๑)
เรื่อง สังคหวัตถุ ๔ (รางวัลชั้นที่ ๑)
เรื่อง สัมปรายิกัตถประโยชน์ ๔ (รางวัลชั้นที่ ๒)
อบรมศีลธรรมแก่นักเรียนวัดราชบพิธ
ถวายพระธรรมเทศนาพระมงคลวิเสสกถา ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสืบต่อจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช วัดมกุฏกษัตริยาราม

แต่งบทความทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก พิมพ์เผยแพร่ในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ เช่น บทความเรื่องบันทึกของศุภาสินี, วัยที่เขาหมดสงสาร, วัดของบ้าน, มรดกชีวิต, ความเติบโต, บุคคลหาได้ยาก, วาสนาสอนน้อง, จดหมายถึงพ่อ, บทร้อยกรอง เช่น วาทแห่งวาสน์, คำกลอนสอนใจ, วาสนคติ, นิราศ ๒ ปี, ทิศ ๖ คำโคลง, สวนดอกสร้อย, สักวาปฏิทิน, คน-ระฆัง, สมพรปาก, เรือ-สมาคม, กลอนปฏิทิน, อาจารย์ดี, พัฒนาใจ, และพุทธศาสนคุณ เป็นต้น

กิจกรรมพิเศษ
รับการปลงพระบริขารจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
เป็นผู้อำนวยการปฏิบัติการพระศพ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น
ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ในการทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุฏมาร
ทรงเป็นประธานกรรมการสังคีติการกสงฆ์ สังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอ บ แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๕๓๐

ทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้งเป็นพระคณาจารย์เอก ในทางรจนาพระคัมภีร์ แต่ พ.ศ. ๒๔๘๕

การบูรณะวัด
เนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ เป็นวัดแรกในรัชกาลนั้น ถึงบัดนี้มีอายุ ๑๐๐ ปีเศษแล้ว วัตถุก่อสร้างภายในพระอารามจึงชำรุดทรุดโทรมอยู่ทั่วไป ในยุคที่ทรงเป็นเจ้าอาวาสได้ทำการบูรณะเขตพุทธาวาสให้คงสภาพดีเรียบร้อยไปแล้ว ที่ปรากฏในปัจจุบัน เช่น องค์พระเจดีย์ใหญ่ พระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารทิศ ๒ หลัง พระวิหารคด ศาลาราย ลานพระเจดีย์ และพื้นไพฑีโดยรอบ ในเขตสังฆาวาส มีศาลาการเปรียญคณะนอก (ศาลาร้อยปีในปัจจุบัน) พระที่นั่งสีตลาภิรมย์ กุฎีสงฆ์คณะนอก ๓ แถว ๓ ชั้น กุฎีสงฆ์คณะในแถวใน ตำหนักอรุณ ศาลาการเปรียญคณะใน เป็นต้นโดยลำดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๓๐ ได้จัดการบูรณะซ่อมแซมพระอารามไปแล้ว รวม ๒๙ รายการ เป็นเงินประมาณ ๖๔,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ

สร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดราชบพิธ
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้ร่วมกับคณะกรรมการจัดหาทุนสร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดราชบพิธ คือ ตึกภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์ ๑-๒-๓ และตึกชินวรศรีธรรมวิทยาคาร (รวม ๔ หลัง)

อุปถัมภ์ในการสร้างวัด
ได้ให้ความอุปถัมภ์ในการสร้างวัดแสงธรรมสุทธาราม อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ วัดโพธิ์ทอง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และองค์อุปถัมภ์ในการบูรณะซ่อมแซมวัดชินวราราม อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

สร้างอาคารเรียนโรงเรียนประชาบาล
ที่วัดสระกะเทียม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม มีชื่อว่า “สถาพรทักษิณาคาร” และให้อุปถัมภ์ในการสร้างอาคาร “วโรฬารวาสนะเวศม์” ที่วัดโพธิ์ทอง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีชื่อว่า “วาสนานุกูล”

สร้างศาลาบำเพ็ญบุญ
ได้โปรดให้สร้างศาลาบำเพ็ญบุญจตุรมุขอุทิศบุรพชน ๑ หลัง และบูรณะปรับปรุงกุฎีเจ้าคุณอาจารย์ (พระญาณดิลก รอด วราสโย) ๑ หลัง ณ วัดเสนาสนาราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สร้างหอนาฬิกา
ได้โปรดให้สร้างหอนาฬิกา ๑ หอ ชนิด ๓ หน้าปัด ที่บ้านตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นชาติภูมิสถานที่ประสูติของพระองค์

สร้างศาลาพักริมทางหลวง
ได้โปรดให้ไวยาวัจกรจ่ายกัปปิยภัณฑ์จัดสร้างศาลาพักริมทางหลวงไว้ตามทางหลวงต่างๆ เพื่อสาธารณประโยชน์แก่ผู้สัญจรไปมาทั่วไป รวมถึงปัจจุบันสร้างไปแล้ว ๘ หลัง และที่หน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีก ๒ หลัง

ตั้งทุนนิธิต่างๆ บำรุงพระอาราม
ทุน พระจุลจอมเกล้า และทุนปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธ
ได้โปรดให้ตั้งนิธิปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธ และนิธิ “พระจุลจอมเกล้าฯ” มีจุดประสงค์สำหรับหาผลประโยชน์บูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธ โดยไม่มีถอนต้นทุนมาใช้ มียอดจำนวนทุนที่ได้รับบริจาคถึง พ.ศ. ๒๕๓๑ มีจำนวน ประมาณ ๒๔,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ

นอกจากนี้ยังมีนิธิต่างๆ ของวัดอีก โดยไม่ถอนทุนมาใช้ จ่ายได้เฉพาะผลประโยชน์เท่านั้น มีทุนตั้งไว้ประมาณ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ

สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ)
ในมหามงคลดิถีที่เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช เจริญพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๕ คณะศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิต และฆราวาส มี พล.ต.อ. ชุมพล โลหะชาละ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ได้ร่วมกันดำเนินงานและเลือกสถานที่ตั้ง คือตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สถานที่แห่งนี้มีความหมาย คือเป็นตำบล และอำเภอประสูติของพระองค์ เป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอขนาด ๓๐ เตียง บนเนื้อที่ ๓๔ ไร่เศษ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้วางผังไว้สำหรับขยายเป็น ๖๐ เตียงในโอกาสต่อไป ใช้ทุนการก่อสร้างดำเนินงานไปประมาณ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ได้เปิดดำเนินการตั้งแต่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๒๕ เป็นต้นมา โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีเปิด

มูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ)
อนึ่ง มีทุนที่เหลือจากการสร้างโรงพยาบาลนี้ และมีผู้บริจาคสมทบโดยลำดับ มีทุนปัจจุบันประมาณ ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ได้โปรดให้จัดตั้งเป็นมูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) จะได้ตั้งเป็นมูลนิธิสำหรับจัดหาผลประโยชน์บำรุงโรงพยาบาล เป็นทุนส่งเสริมการศึกษาและสาธารณกุศลอื่นๆ ต่อไป

สร้างสถานสงเคราะห์คนชรา (วาสนะเวศม์)
ในมงคลสมัยที่ทรงหายจากประชวร เมื่อปี ๒๕๒๙ คณะศิษยานุศิษย์ มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธาน ถือเป็นศุภนิมิตมงคลเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีสมานฉันท์ดำเนินการสร้างสถานสงเคราะห์คนชรา ขึ้น ๑ แห่ง บริเวณใกล้เคียงกับโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) โปรดประทานนามว่า “วาสนะเวศม์” แปลว่า ที่อยู่ของผู้มีบุญ สามารถรับคนชราเข้าอยู่อาศัยได้ ๒๐๐ คน บนเนื้อที่ ๓๑ ไร่เศษ สังกัดกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย สิ้นค่าก่อสร้างและดำเนินการไปประมาณ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ได้เปิดดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๐ โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด

เสด็จเยี่ยมพุทธศาสนิกชนในและต่างประเทศ
นอกจากเสด็จเยี่ยมภิกษุสามเณร ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ในประเทศทั้ง ๗๓ จังหวัดแล้ว ยังได้เสด็จเยี่ยมพุทธศาสนิกชนในต่างประเทศ เช่น พม่า สิงคโปร์ ฮ่องกง ศรีลังกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย ๒ ครั้ง อังกฤษ ๒ ครั้ง และสหรัฐอเมริกา ๔ ครั้ง

ทรงเจริญพระชนมายุ ๙๐ พรรษา
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๑ เจ้าพระคุณ สมเด็จอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช เจริญพระชนมายุ ๙๐ พรรษา รัฐบาลเห็นสมควรจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นให้สมพระเกียรติ และเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับงานนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงเป็นงานบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ ๙๐ พรรษา และได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มายังพระอุโบสถวัดราชบพิธ ถวายน้ำสรงสมเด็จพระสังฆราช ถวายดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายพัดยศพิเศษ คือ พัดแฉกงาประดับพลอยที่เคยพระราชทานเฉพาะเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายธรรมยุตที่เป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ พร้อมกันนั้นได้ถวายพัดรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร. ชั้น ๑ ซึ่งเป็นพัดประจำรัชกาลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานแก่พระสงฆ์ที่ทรงเคารพนับถือและคุ้นเคยเป็นส่วนพระองค์ อันมีจำนวนน้อยรูป และเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ได้รับถวายพัดรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร. นี้ เป็นรูปที่ ๕ เท่านั้น ในงานบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุครั้งนี้ ปรากฏว่าพุทธศาสนิกชนทั้งบรรชิตและฆราวาสมีความปลื้มปีติยิ่ง ได้เดินทางมาถวายสักการะถวายพระพรกันอย่างล้นหลามยิ่งกว่าที่เคยปรากฏในกาลก่อน

ทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์
เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงพระประชวรด้วยพระปับผาสะอักเสบ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๓๑ ได้เข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ต่อมาทรงมีภาวะพระหทัยวายจากเส้นพระโลหิตตีบและกล้ามเนื้อพระหทัยบางส่วนไม่ทำงาน คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ แต่ในที่สุดก็ได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการสงบ เมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๑ เวลา ๑๖.๕๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเศร้าสลดพระราชฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในราชสำนัก ๑๕ วัน และโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพไว้ ณ พระวิหารวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายและถวายพระเกียรติยศตามพระราชประเพณีทุกประการ รัฐบาลได้ประกาศให้สถานที่ราชการทุกแห่งลดธงครึ่งเสา ๓ วัน และให้ข้าราชการไว้ทุกข์ ๑๕ วัน

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิริรวมพระชันษาได้ ๙๐ ปี ๕ เดือน ๒๕ วัน ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชนมายุสูงที่สุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ๑๔ ปี ๒ เดือน ๕ วัน จึงทรงดำรงตำแหน่งนานที่สุดในรัชกาลปัจจุบัน

พระอนุสาวรีย์แห่งสุดท้าย
เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงพึงพระทัยที่จะสร้างหรือปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ อันเป็นสาธารณประโยชน์อยู่เสมอ เช่น ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ทอง ตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นวัดข้างบ้านที่ทรงประสูติและได้เคยทรงเรียนหนังสือที่วัดนี้แต่สมัยยังทรงพระเยาว์ ๗-๘ ชันษา ต่อมาได้ทรงสร้างอาคารเรียน โรงเรียนประชาบาล ๒ โรง ทรงอุปถัมภ์การสร้างวัดแสงธรรมสุทธาราม อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ทรงสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) และสถานสงเคราะห์คนชรา “วาสนะเวศม์” ที่ตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพระอนุสาวรีย์แห่งสุดท้ายที่ทรงริเริ่มไว้ ยังไม่ทันดำเนินการให้สำเร็จก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน คือ การก่อสร้างโรงเรียนวัดราชบพิธ ถนนสนามไชย

โรงเรียนวัดราชบพิธ เป็นโรงเรียนมัธยมสังกัดกรมสามัญศึกษา พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เจ้าอาวาสวัดราชบพิธพระองค์แรก ทรงตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ และอยู่ในความอุปถัมภ์ของเจ้าอาวาสต่อมาทุกองค์ โรงเรียนวัดราชบพิธ ได้เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ มีครูและนักเรียนเพิ่มมากขึ้น เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช แต่ยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระจุลคณิศร ก็ได้เคยเป็นกรรมการจัดหาทุนสร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่ถึง ๓ หลัง และเมื่อทรงเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ องค์ที่ ๔ ก็ได้อนุญาตให้กระทรวงศึกษาธิการรื้ออาคารภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์ ๑ แล้วสร้างใหม่เป็นตึก ๓ ชั้น แทน แต่ปัจจุบันโรงเรียนมีนักเรียนถึง ๒,๒๐๐ คน ขาดแคลนห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ โรงอาหาร และบริเวณเล่นกีฬาออกกำลังกาย ทางโรงเรียนได้ขออนุญาตจัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราวแทรกอยู่ในบริเวณพุทธาวาสหลายหลัง ทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยน่าดู เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช องค์อุปถัมภ์โรงเรียนได้ทรงพยายามที่จะหาทางคลี่คลายแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา ต่อมาทรงทราบว่ากองทัพบกมีโครงการจะย้ายที่ตั้งหมวดคลัง กองยกกระบัตร กรมพลาธิการทหารบก ออกจากที่ตั้งเดิมริมถนนสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๙ ไร่ ๑ งาน ๔๖ ตารางวา ออกไปรวมกับสถานที่ใหม่ของกรม ที่อำเภอปากเกร็ด จึงได้มีพระลิขิตถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบิณฑบาตที่ดินราชพัสดุแปลงดังกล่าว มาจัดสร้างขยายโรงเรียนวัดราชบพิธต่อไป ในการนี้ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก ได้กรุณาชี้แจงขอความเห็นชอบจากคณะผู้บริหารกองทัพบก พร้อมใจที่จะทูนถวายสิทธิการใช้ที่ดินราชพัสดุแปลงดังกล่าว เป็นเครื่องสักการะและถวายเป็นพระกุศล เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา

อุปนายกกรรมการฯ มหามกุฏราชวิทยาลัยฯ
เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะเมื่อยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ ได้ทรงเกี่ยวข้องกับกิจการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาเป็นเวลาช้านาน กล่าวคือ ได้ทรงเป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ครั้น พ.ศ. ๒๕๐๔ ก็ได้ทรงดำรงตำแหน่งอุปนายกกรรมการฯ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๕ ก็ได้ทรงดำรงตำแหน่งนายกกรรมการฯ บริหารรับผิดชอบกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ และได้ทรงดำรงตำแหน่งนี้ตลอดมาจนถึงวาระที่สุดแห่งพระชนมชีพ นับแต่ได้ทรงมีหน้าที่รับผิดชอบในมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ก็ได้ทรงเสริมสร้างการเก่า ดำริการใหม่ เป็นเหตุให้กิจการต่างๆ ของมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี ตลอดสมัยแห่งกาลที่พระองค์ทรงบริหารรับผิดชอบ กล่าวได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น ได้ทรงมีส่วนอย่างสำคัญพระองค์หนึ่งในการจรรโลงส่งเสริมกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ให้เจริญมั่นคง อำนวยเกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่การพระศาสนาและชาติบ้านเมืองเป็นส่วนรวม สมแก่วัตถุประสงค์แห่งมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ทุกประการ นับแต่ต้นมาจนถึงที่สุดเป็นเวลากว่า ๔๐ ปี

เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก