หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
[ วัดบวรนิเวศวิหาร ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๑ ฉบับที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๐ )
พระประวัติเบื้องต้น
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระนามเดิมหม่อมราชวงศ์ชื่น ทรงเป็นโอรสหม่อมเจ้าถนอม และหม่อมเอม ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๕ ตรงกับวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา จึงทรงเป็นพระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฏพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ทรงเนื่องในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย เพราะกรมหมื่นมเหศวรวิลาสและพระอนุชา คือ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร (พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ วรฤทธิราชมหามกุฏ บุรุษยรัตนราชวโรรส) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย ซึ่งเป็นธิดาของพระอินทรอไภย (เจ้าฟ้าทัศไภย) โอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ราชพัสดุของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีบางอย่างที่ทรงได้รับสืบต่อมา เช่น พระแท่นหินอ่อนยังอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร) ส่วนหม่อมเอมเป็นธิดาพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย) ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) บุตรเจ้าพระยามหาโยธา (พญาเจ่ง) ต้นสกุลคชเสนี

เมื่อมีพระชนมายุพอจะเป็นมหาดเล็กได้ ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ฯ สยามมกุฏราชกุมารในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็น “คะเด็ด” ทหารม้าในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภ มีหน้าที่ตามเสด็จรักษาพระองค์ทำนององครักษ์ เวลาอยู่ประจำการตามหน้าที่ ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน ได้พำนักอยู่ ณ ตำหนัก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๔) พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ ซึ่งทรงเป็นผู้อุปการะและอบรมสั่งสอน

ทรงบรรพชา
เมื่อมีพระชนมายุเจริญขึ้นแล้ว ได้ทรงออกจากวังและได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระพรหมมุนี (สุมิตฺตตฺเถร เหมือน) วัดบรมนิวาส เป็นพระอุปัชฌายะในขณะที่ทรงบรรพชาเป็นสามเณรนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ยังทรงพระชนม์อยู่ แต่ปรากฏในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหารว่า ในระยะหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ไม่ค่อยได้ทรงเป็นพระอุปัชฌายะ แม้ในวัดนี้ก็ไม่ทรงรับเป็น พระอุปัชฌายะ แต่โปรดให้บวชอยู่ในวัดได้ต้องถือพระอุปัชฌายะอื่น ในระหว่างที่ทรงเป็นสามเณร ได้ตามเสด็จสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ไปประทับอยู่ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ซึ่งในขณะนั้น ม.ร.ว.ชุบ (พระยานครภักดีฯ) ผู้เป็นพี่ได้อุปสมบทอยู่ที่วัดมกุฏฯ และต่อมาได้ตามเสด็จ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กลับมาวัดบวรนิเวศวิหาร ในปลายสมัย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อทรงบรรพชาแล้ว ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรม กับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และทรงศึกษาจากพระอาจารย์อื่นบ้าง เช่น หม่อมเจ้าพระปภากร, พระสุทธสีลสังวร (สาย) ได้ทรงเข้าสอบไล่ครั้งแรกที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ สอบไล่ได้เปรียญ ๕ ประโยค เมื่อยังทรงเป็นสามเณร

ทรงอุปสมบท
ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร มีพระพรหมมุนี (กิตฺติสารตฺเถรแฟง) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระอุปัชฌายะ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อทรงดำรงพระยศเป็น กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๕ ทั้งการบรรพชาในครั้งก่อนและการอุปสมบทในครั้งนี้ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชทานพระราชูปถัมภ์และได้พระราชทานพระราชูปถัมภ์ตลอดมา

ในปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ได้ทรงจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูง และเป็นที่ประชุมแปลสอบไล่ เรียกว่าเป็นส่วนวิทยาลัยแผนกหนึ่งจัดโรงเรียนขึ้นตามพระอารามเป็นสาขาของวิทยาลัยอีกแผนกหนึ่ง ฉะนั้น การสอบไล่พระปริยัติธรรมจึงสอบได้ ๒ แห่ง คือ สนามหลวงแห่ง ๑ สนามมหามกุฏราชวิทยาลัยแห่ง ๑ (ต่อมา ทรงเลิกสนามมหามกุฏ ฯ) เปรียญผู้สอบได้ ทรงตั้งให้เป็นเปรียญหลวงเหมือนกัน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (เวลานั้นทรงเป็น ม.ร.ว.พระชื่น เปรียญ) ได้ทรงเป็นครูรุ่นแรกของโรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นสาขาที่ ๑ ของวิทยาลัย ที่เปิดพร้อมกันทุกโรงเรียน และพร้อมกับเปิดมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ นั้น.

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้เคยรับสั่งเล่าว่า มีพระประสงค์จะสอบไล่เพียง ๕ ประโยคเท่านั้น จะไม่ทรงสอบต่อ ทรงตามอย่างสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ซึ่งทรงสอบเพียงเท่านั้น เพื่อมิให้เกินสมเด็จพระบรมชนกนาถ แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯโปรดให้สอบต่อไป และทรงคัดเลือกส่งเข้าสอบสนามหลวง หลังจากที่ทรงอุปสมบทแล้ว จึงทรงสอบต่อได้เป็นเปรียญ ๗ ประโยค เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เมื่อทรงอุปสมบทได้ ๓ พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสุคุณคณาภรณ์

ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ได้ทรงเริ่มจัดการพระศาสนา ทั้งการศึกษา ทั้งการปกครอง ทั้งการอื่น ๆ ดังที่ปรากฏผลอยู่ในปัจจุบันนี้ ในเบื้องต้น เมื่อยังไม่ทรงมีอำนาจที่จะจัดในส่วนรวม ก็ได้ทรงจัดในส่วนเฉพาะคือ ได้ทรงจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น อันนับเป็นส่วนเฉพาะคณะธรรมยุต

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้ทรงมีส่วนร่วมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ มาตั้งแต่ต้นในการงานหลายอย่าง กล่าวคือ

พระภารกิจในการคณะสงฆ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์บำรุงการศึกษามณฑลหัวเมือง ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้ทรงเป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษา โปรดให้บังคับพระอารามในหัวเมือง ซึ่งเป็นส่วนการพระศาสนา และการศึกษาได้ ทั้งในมณฑลกรุงเทพฯ ทั้งในมณฑลหัวเมือง ตลอดพระราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เป็นเจ้าหน้าที่จัดการอนุกูลในกิจที่ฝ่ายฆราวาสจะพึงทำ มีจัดการพิมพ์แบบเรียนต่าง ๆ ที่จะพระราชทานแก่พระภิกษุสงฆ์ไปฝึกสอน เป็นต้น ตลอดจนการที่จะเบิกพระราชทรัพย์จากพระคลังไปจ่าย ในการที่จะจัดตามพระราชประสงค์นี้ และโปรดเกล้า ฯ ให้ยกโรงเรียนพุทธศาสนิกชน ในหัวเมืองทั้งปวง มารวมขึ้นอยู่ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เพื่อจะได้เป็นหมวดเดียวกัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ได้ทรงเลือกสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสุคุณคณาภรณ์ให้เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลจันทบุรีในศกนั้น

พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้มีการออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) อันเป็นผลเนื่องมาจากการจัดการพระศาสนา และการศึกษาในหัวเมือง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ก็ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะมณฑลจันทบุรีในศกนั้น (พ.ศ. ๒๔๔๕)
พ.ศ. ๒๔๔๖ ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระญาณวราภรณ์
พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๔๖๔ ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นเจ้าคณะมณฑลอยุธยา (ตลอดมาจนทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงทรงลาออก)
พ.ศ. ๒๔๗๑ ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะในราชทินนามพิเศษว่า สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์
พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นประธานมหาเถรสมาคม บัญชาการคณะสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ซึ่งประชวรชราพาธ
พ.ศ. ๒๔๘๕ทรงเป็นประธานคณะวินัยธร ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔

พระภารกิจทางการศึกษา
ส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาทั้งแผนกธรรมและบาลี ในสมัยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้ทรงเลือกพระเถระ ให้เป็นแม่กองสอบไล่ธรรม และบาลีตามวาระ ทั้งในมณฑลกรุงเทพฯ และมณฑลหัวเมือง ก็ได้ทรงรับเลือกให้เป็นแม่กองสอบไล่พระปริยัติธรรมหลายคราว เช่น ทรงเป็นแม่กองสอบไล่มณฑลปัตตานี ได้ทรงเป็นแม่กองสอบไล่มณฑลอยุธยา ทั้งระหว่างที่ทรงเป็นเจ้าคณะมณฑลนั้น และทรงได้รับเลือกเป็นแม่กองธรรมสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ แม่กองบาลีสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗

พระภารกิจในคณะธรรมยุต
เมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงมีพระชราพาธเบียดเบียน ไม่เป็นการสะดวกที่จะทรงปฏิบัติพระภารกิจในฐานะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ได้ทรงมอบหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ให้ทรงบัญชาการแทน ด้วยลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๗๗ เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น สิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงได้ทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกา ตามแบบปกครองในคณะธรรมยุตสืบมา

เมื่อทรงรับหน้าที่ปกครองคณะธรรมยุตแล้ว ได้ทรงจัดการปกครองคณะธรรมยุต ที่สำคัญหลายประการ คือ

๑. วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๗๗ ประกาศใช้ระเบียบการชั่วคราวของคณะธรรมยุต ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฝ่ายบรรพชิต โดยมีหลักการให้คณะกรรมการมหามกุฏ ฯ เลือกคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวนไม่เกิน ๙ ประกอบด้วย ประธาน ๑ รองประธาน ๑ กรรมการ ๖ และ เลขาธิการ ๑ เพื่อทรงตั้งเป็นกรรมการคณะธรรมยุต มีหน้าที่สอดส่อง แนะนำ ชี้แจงแสดงความเห็น วางระเบียบแบบแผน ปรับปรุงกติกาอาณัติเป็นต้น สำหรับคณะธรรมยุตทั่วไปให้ถือวันวิสาขบูชาเป็นวันแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๑ ปี

๒. วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๑ เถรสมาคมคณะธรรมยุตมีมติให้เพิ่มจำนวนกรรมการคณะธรรมยุต ๑๐ รูป ๕ รูปจากสังฆมนตรีธรรมยุต อีก ๕ รูป จากเถรสมาคมคณะธรรมยุต ตามลำดับคะแนนที่ได้รับเลือก และให้กรรมการเถรสมาคมธรรมยุตเป็นผู้เลือก

๓. วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๔๘๑ เพื่ออนุวัตรตามสมเด็จพระมหาสมณนิยม จึงวางระเบียบกำหนดให้พระราชาคณะตั้งแต่ชั้นราชขึ้นไปอยู่ที่ในพระนคร-ธนบุรี ดำรงตำแหน่งกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตประเภทประจำ มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษา แสดงความเห็นการคณะทั่ว ๆ ไป ในการนี้ถ้าเป็นการสมควรก็ทรงแต่งตั้งพระเถระที่เป็นพระราชาคณะสามัญ เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต ประเภทชั่วคราวก็ได้

๔. กำหนดความนิยม ให้เจ้าอาวาสพระครูสัญญาบัตร และพระราชาคณะขึ้นไปในพระนคร-ธนบุรี ที่จะเดินทางไปพักแรมคืนต่างจังหวัด แจ้งการเดินทางไปนั้นให้เจ้าคณะใหญ่ทราบ

๕. กำหนดความนิยม ให้วัดที่มีภิกษุสามเณรมาก ควรตั้งพระเถระในวัดนั้น ๆ จำนวนตามแต่จะเห็นสมควร เป็นกรรมการวัด มีหน้าที่ช่วยให้ความคิดเห็น เป็นที่ปรึกษาของเจ้าอาวาส

๖. วางระเบียบกำหนด ให้สามเณรต่อศีล ในวันขึ้นและแรม ๑๔ ค่ำ ของทุกเดือน

๗. ส่งพระเถระกรรมการคณะธรรมยุตออกไปตรวจการคณะสงฆ์ ในส่วนภูมิภาคจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคพายัพ ภาคอิสานและภาคใต้ ตามแต่กรณี

๘. ส่งนักเรียนปกครองและนักเรียนครูของมหามกุฏราชวิทยาลัยที่ได้รับการอบรมแล้ว ไปยังวัดที่ส่งเข้ามาบ้าง ส่งไปยังสำนักที่ต้องการขอมาบ้าง ปีละหลายรูป

๙. ส่งพระผู้สมควรไปกำกับการวัดต่างๆ ในคณะธรรมยุต เพื่อความเหมาะสมในขณะนั้น มีวัดศรีสุริยวงศ์ จังหวัดราชบุรี วัดมัชฌินติการาม บางเขน พระนคร วัดตรีทศเทพ พระนคร วัดหนองดู่ จังหวัดลำพูน วัดศรีมุงเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัดเกตการาม จังหวัดสมุทรสงคราม วัดจันทนาราม จังหวัดจันทบุรี วัดธาตุทอง พระนคร

๑๐. เปิดการประชุมคณะธรรมยุตจังหวัด ให้เจ้าอาวาสวัดธรรมยุตมาประชุมที่วัดเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดเดือนละครั้ง เพื่อพบปะปรึกษาหารือในข้อพระธรรมวินัย ปรับปรุงวัดและการปกครองเป็นต้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้มีการเปิดประชุมคณะธรรมยุตจังหวัด สมุทรสงคราม จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดนครปฐม และ จังหวัดกาญจนบุรี

๑๑. ต่อมาเมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ การปกครองในคณะธรรมยุตก็คงเป็นไปตามเดิม

สมเด็จพระมหาสังฆปริณายก
พ.ศ. ๒๔๘๗ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศน์ สิ้นพระชนม์ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามเดิม ดังคำประกาศสถาปนาดังนี้

ประกาศสถาปนา
สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗)
ปรีดี พนมยงค์

โดยที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว เปรียญ ๕ ประโยค) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งดำรงตำแหน่งสกลสังฆปริณายก ปธานาธิบดีสงฆ์ ได้สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียแล้ว เป็นการสมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชดำรงตำแหน่งต่อไป

และโดยที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร มีคุณูปการในทางศาสนกิจ เจริญด้วยคุณวุฒิ ประกอบด้วยสมรรถภาพอันดียิ่ง เป็นที่คารวะของพระภิกษุสงฆ์และพุทธมามกะทั่วไป สมควรจะดำรงตำแหน่งสกลสังฆปริณายกได้

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงให้ประกาศสถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามเดิม ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปริณายก ปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑล ทั่วราชอาณาจักรสืบไป

ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ควง อภัยวงศ์
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ. จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๙ หน้า ๑๖๖ พ ศ ๒๔๘๘

ถึง พ.ศ. ๒๔๙๓ ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเฉลิมพระนามให้เต็มพระเกียรติยศ ตามราชประเพณี เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๙๓

ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์
การปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งดำเนินมาเป็นลำดับเกิดความ ขัดข้องในการปกครองหลายประการ เป็นเหตุให้การคณะสงฆ์ดำเนินไปไม่เรียบร้อย เพื่อแก้ไขข้อข้องต่าง ๆ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ ในฐานะองค์สกลมหาสังฆปริณายก ได้มีพระบัญชา เรียกประชุมพระเถระทั้ง ๒ ฝ่าย มาพิจารณาตกลงกันที่พระตำหนักเพ็ชร เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ พระเถระทั้ง ๒ ฝ่าย ได้ตกลงกัน ดังนี้

๑. การปกครองส่วนกลาง คณะสังฆมนตรีคงบริหารร่วมกัน แต่การปกครองบังคับบัญชาให้เป็นไปตามนิกาย
๒. การปกครองส่วนภูมิภาค ให้แยกตามนิกาย
๓. ส่วนระเบียบปลีกย่อยอื่น ๆ จะได้ปรึกษาในภายหลัง ได้ทรงสั่งให้พระธรรมยุตเจ้าคณะชั้นต่าง ๆ เป็นต้น ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้

ในส่วนคณะธรรมยุตนั้น พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีพระบัญชาเรียกประชุมพระคณาธิการส่วนภูมิภาค คือเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัด และผู้ช่วยเจ้าคณะธรรมยุตอำเภอ ทั่วพระราชอาณาจักร ณ พระตำหนักเพ็ชร และได้ทรงกำหนดนโยบายบริหารคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

ประกาศใช้ประมวลระเบียบบริหารวัดธรรมยุต พุทธศักราช ๒๕๐๐ เพื่อให้วัดธรรมยุตทั่วไป มีการบริหารเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๐๑

ในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมยุตต่างประเทศได้รับพระภิกษุสามเณรธรรมยุต จากประเทศเขมรให้อยู่ศึกษาอบรมสืบเนื่องมา ในสมัยที่รัฐบาลไทยให้ความอุดหนุน ด้วยให้ทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรชาวต่างประเทศใกล้เคียง เพื่อเข้ามาศึกษาอบรมในประเทศไทยจนสำเร็จ รูปละ ๘ ปี คณะธรรมยุตได้รับพระภิกษุสามเณรชาวกัมพูชาไว้ศึกษาอบรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ถึง ๘ รูป

ทรงกรม
พ.ศ. ๒๔๙๙ ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระสมณศักดิ์และฐานนันดรศักดิ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีสำเนาประกาศสถาปนา ดังนี้

ประกาศพระบรมราชโองการ
สถาปนาสมณศักดิ์ และฐานันดรศักดิ์ สมเด็จพระสังฆราช
ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

ภูมิพลอดุลยเดช ปร.
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ทรงมีพระคุณูปการอย่างยิ่งแด่พระองค์เมื่อคราวทรงผนวช ได้ถวายโอวาทานุศาสน์ ให้ทรงเข้าพระราชหฤทัย ในหลักพระพุทธศาสนาอย่างทราบซึ้ง นับว่าทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลแห่งองค์พระมหากษัตริย์ และประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ มีศักดิ์เป็นหม่อมราชวงศราชประนัปดา ในสมเด็จพระบรมไอยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฏพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับว่าทรงดำรงอยู่ในสถานะเป็นเชื้อสายในราชตระกูลแห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ เป็นอจลพรหมจริยาภิรัตยั่งยืนมาช้านานถึง ๖๔ พรรษา ดำรงมั่นอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญามิได้เสื่อมถอย มีพระจริยาวัตรเรียบร้อยบริสุทธิ์ บริบูรณ์ มิได้หวั่นไหวต่อโลกามิส ทั้งพระฉันทจริต ก็เพียบพร้อมด้วยสมณคุณธรรม ยากที่จะหาผู้เสมอได้ ทรงพระปรีชาญาณแจ่มใส รอบรู้พระไตรปิฎกสัทธรรม ซึ่งนับว่าเป็นพหุลศรุตบัณฑิต อย่างยอดเยี่ยมพระองค์หนึ่งทรงพระสุตญาณอย่างลึกซึ้ง สามารถในธรรมวิจารณธรรมวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องเด็ดขาดในโอกาสทุกเมื่อ ส่วนในการพระศาสนา สมเด็จพระสังฆราช ก็ได้ทรงรับหน้าที่บริหาร จัดการทะนุบำรุงให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ จนในที่สุด ได้ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกมาเป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี ได้ทรงบำเพ็ญกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักรและอาณาจักรอย่างไพศาล ดั่งความพิสดารปรากฏอยู่ในประกาศสถาปนาเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ นั้นแล้ว และบัดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเจริญยิ่งด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ รัตตัญญูมหาเถรธรรม เป็นที่เจริญศรัทธาปสาทะและเป็นคารวสถาน ปูชนียเจดีย์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดถึงมวลพุทธบริษัทและอาณาประชาราษฎรทั่วสกลราชอาณาจักร สมควรจะสถาปนาพระเกียรติยศฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง เพื่อเป็นศรีศุภมงคล แด่พระบวรพุทธศาสนา และเป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาคารวสถานสืบไป

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วิสุทธิสงฆคุณาลังการ อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส ภูมิพลมหาราชหิโตปัธยาจารย์ สุจิตตาภิธานสังฆวิสุต มหามกุฏมหาราชประนัปดา นภวงศราชกุลาภิวรรธน์ สุขุมอรรถธรรมวิจารปรีชา กาพยรจนาฉันทพากยปฏิภาน ปาวจนุตตมญาณวราภรณ์ สุนทรวิสุทธิพรหมจรรย์ วิมลศีลขันธสมาจารวัตร พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภานพัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณบัณฑิต สรรพคณิสสรมหาปธานาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร คชนาม เสด็จสถิตณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระอารามหลวงทรงศักดินา ๑๑๐๐๐ ตามกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมทั้งปวง และดำรงพระอิสริยยศยิ่งใหญ่ในฝ่ายพุทธจัาร สมณศักดิ์ที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นประธานในสมณมณฑลทั่วราชอาณาจักร ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณรทั่วไป โดยสมควรแก่พระอิสริยยศสมณศักดิ์ ทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาน คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบูลยศุภผลจิรัฏฐีติกาล ในพระพุทธศาสนา

ให้ทรงตั้งเจ้ากรม เป็น หลวงวชิรญาณวงศ์ ถือศักดินา ๖๐๐ ให้ทรงตั้งปลัดกรม เป็น ขุนจำนงบวรกิจ ถือศักดินา ๔๐๐ ให้ทรงตั้งสมุห์บัญชี เป็น หมื่นวินิจวรภัณฑ์ ถือศักดินา ๓๐๐ ให้ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งบรรดาศักดิ์ทั้ง ๓ นี้ ทำราชการในหลวงและในกรมตามอย่างธรรมเนียมเจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บัญชี ในพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ทั้งปวงสืบไป ให้มีความสุขสวัสดิ์เจริญเทอญ

ในส่วนสมณศักดิ์นั้น ให้ทรงมีพระราชาคณะ และพระครูฐานานุกรมประดับพระอิสริยยศ ๑๕ รูป คือ พระมหานายก พุทธปาพจนดิลกโลกยปสาทาภิบาล สกลสังฆประธานมหาเถรกิจการี คณาธิบดีศรีรัตนคมกาจารย์ พระราชาคณะปลัดขวา ๑ พระจุลนายก ธรรมนิติสาธกมหาเถราธิการ คณกิจบรรหารธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑ พระครูวิสุทธิธรรมภาณ ๑ พระครูพิศาลวินยวาท ๑ พระครูประสาทพุทธปริตร พระครูพระปริตร ๑ พระครูประสิทธิ์พุทธมนต์ พระครูพระปริตร ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูสรภัญญประกาศ พระครูคู่สวด ๑ พระครูสรนาทวิเศษ พระครูคู่สวด ๑ พระครูนิเทศธรรมจักร ๑ พระครูพิทักษ์ธุรกิจ ๑ พระครูสังฆสิทธิกร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้ มีความสุขสิริสวัสดิสถาพร ในพระบวรพุทธศาสนา เทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

พระภารกิจด้านมหามกุฏราชวิทยาลัย
ในทางมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ก็ได้ทรงมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง กล่าวคือ ได้ทรงเป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานอาราธนาบัตรทรงตั้งมา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๘ ขณะทรงเป็นหม่อมราชวงศ์พระชื่น เปรียญ พรรษา ๒

ต่อมาได้ทรงเป็นอุปนายกกรรมการ ในสมัยที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงเป็นนายกกรรมการ

พ.ศ. ๒๔๗๖ ทรงได้รับมอบหน้าที่การงานในตำแหน่งนายกกรรมการ จากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๗๖) เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว ทรงได้รับเลือกเป็นนายกกรรมการ ตลอดมา

ในสมัยที่ทรงเป็นนายกกรรมการ ได้ทรงฟื้นฟู และปรับปรุงกิจการของมหามกุฏ ฯ หลายอย่างเป็นต้นว่า

ในด้านการบริหาร ได้จัดตั้งเจ้าหน้าที่ ฝ่ายบรรพชิตเป็นผู้ปฏิบัติงานอำนวยการต่าง ๆ เกี่ยวแก่ธุรการทั่วไปบ้าง เผยแผ่ปริยัติธรรมบ้าง ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ปรับปรุงเจ้าหน้าที่ฝ่ายคฤหัสถ์ วางระเบียบต่าง ๆ ให้เหมาะสมและตราสารมูลนิธิ ซึ่งได้จดทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๗๖ ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (วัดราชบพิธ) ทรงเป็นนายกกรรมการ ได้จดทะเบียนแก้ไขอีกหลายคราว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้บัญญัติประมวลระเบียบบริหารมูลนิธิ ตามความในตราสาร สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้ทรงแสดงพระประสงค์ให้คฤหัสถ์เป็นผู้จัดการในเรื่องทรัพย์สินของมูลนิธิให้พระเป็นแต่ผู้ควบคุมเท่านั้น ตามควรแก่กรณี

ในด้านการบำรุงและอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม ได้วางระเบียบบำรุงการศึกษา อบรม แก่สำนักเรียนต่าง ๆ รับอบรมนักเรียน ครู นักเรียนปกครอง ที่ส่งเข้ามาจากจังหวัดนั้น ๆ ส่งครูออกไปสอนในสำนักเรียนที่ขาดครูบ้าง บำรุงสำนักเรียนต่าง ๆ ด้วยทุนและหนังสือตามสมควร กำหนดให้มีรางวัลเป็นการส่งเสริมสำนักเรียนที่จัดการศึกษาได้ผลดี

จัดตั้งหอสมุดมหามกุฏ ฯ (ตามคำสั่ง วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘) ตั้งสภาการศึกษามหามกุฏ ฯ เป็นรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา (ตามคำสั่ง วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘) เปิดเรียนเป็นปฐม เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙

ในด้านการเผยแพร่ ฟื้นฟูการออกหนังสือนิตยสารธรรมจักษุรายเดือน ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ จัดตั้งโรงพิมพ์มหามกุฏ ฯ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๗๘ จัดพิมพ์คัมภีร์พระธรรมเทศนาใช้กระดาษแทนใบลานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ บัดนี้เรียกว่า “มหามกุฏเทศนา” จัดส่งพระไปทำการเผยแผ่ในส่วนภูมิภาคตามโอกาส

ในด้านต่างประเทศ ได้จัดส่งพระไปจำพรรษาที่ปีนัง ในความอุปถัมภ์ของ ญาโณทัย พุทธศาสนิกสมาคม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๒ ได้ส่งพระไปร่วมสมโภชฉลองพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุของพระสารีบุตรเถระ และพระโมคัลลานเถระ ตามคำเชิญของเขมร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้ให้อุปการะส่วนหนึ่งแก่พระที่เดินทรงไปสังเกตการพระศาสนา และการศึกษาในประเทศอินเดีย และลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘

พระกรณียพิเศษ
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้เสด็จไปบูชาปูชนียสถาน และดูการพระศาสนาที่ลังกา อินเดีย และพม่า ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๘ กลับถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๔๗๘

ผลงานพระนิพนธ์
พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรด ฯ ให้ชำระพระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ แล้วโปรดให้จัดพิมพ์ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาทรงพระราชอุทิศพระกุศลถวาย สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้ทรงชำระ ๒ เล่ม

ทรงชำระอรรถกถาชาดก ที่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดให้ชำระพิมพ์ ในโอกาสที่มีพระชนมายุ ๖๐ พรรษาบริบูรณ์ รวม ๑๐ ภาค

ส่วนหนังสือทรงรจนา หรือที่บันทึกจากพระดำรัสด้วยมุขปาฐะ เป็นต้นว่า

ศาสนาโดยประสงค์ (พิมพ์หลายครั้ง)
พระโอวาทธรรมบรรยาย ๒ เล่ม (พิมพ์หลายครั้ง)
ตายเกิดตายสูญ (พิมพ์หลายครั้ง)
ทศพิธราชธรรม พร้อมทั้งเทวตาทิสนอนุโมทนากถา และ สังคหวัตถุ จักรวรรดิวัตร และขัตติยพละ ถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์ในงานฉลองพระสุพรรณบัฏ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. ๒๔๙๓

พุทธศาสนคติ คณะธรรมยุต พิมพ์ในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๕๐๐
บทความต่าง ๆ รวมพิมพ์เป็นเล่มตั้งชื่อว่า “ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาตั้งแต่เบื้องต้น” (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พ.ศ. ๒๕๐๑)

พระธรรมเทศนา ทศพิธราชธรรม ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลปัจจุบัน พระธรรมเทศนาศราทธพรต ในคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล และพระโอวาทในโอกาสต่าง ๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้าครั้งนี้ด้วย

พระธรรมเทศนา “วชิรญาณวงศ์เทศนา” รวม ๕๕ กัณฑ์ คณะธรรมยุตพิมพ์เป็นเล่มและมหามกุฏ ฯ พิมพ์เป็นคัมภีร์ “มหามกุฏเทศนา” ในคราวพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ครั้งนี้

ทีฆาวุคำฉันท์ (พิมพ์หลายครั้ง)
ประชวรใหญ่ครั้งแรก
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ประชวรโรคนิ่วในถุงน้ำดี ต้องเสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แพทย์ได้ถวายการผ่าตัด ๒ ครั้ง ตัดถุงน้ำดีออก ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ คณะศิษยานุศิษย์และผู้เคารพนับถือ ได้ดำเนินการสร้างตึกสำหรับพระภิกษุสามเณรผู้อาพาธขึ้น ๑ หลัง ให้แก่โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ เป็นที่ระลึกในการหายประชวรครั้งนั้น แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้ประทานนามว่า “ตึกสามัคคีพยาบาร” โปรดใช้คำว่า “พยาบาร” ซึ่งเป็นศัพท์บาลีที่มีอยู่แล้ว (พยาปาร หรือ วฺยาปาร แปลว่า ขวนขวาย, ช่วยธุระ, กิจกรรม) แทนคำว่า “พยาบาล” ซึ่งเป็นศัพท์ผูกใหม่

พระราชอุปัธยาจารย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยี่ยมพระอาการในคราวประชวรนี้หลายครั้งและได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์โดยตลอดทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชปาณิธานอย่างแน่นอนว่า เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าหายประชวร จะทรงผนวชและสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ก็หายประชวรได้อย่างน่าประหลาด จึงได้ตกลงพระราชหฤทัยจะทรงผนวช ด้วยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ที่ทรงถือว่า ได้ทรงมีคุณูปการส่วนพระองค์มามาก เป็นพระอุปัชฌายะ สนองพระเดชพระคุณพระราชบุรพการี ตามคตินิยมราชประเพณี ได้เสด็จฯ มาเฝ้าถวายเครื่องสักการะ แสดงพระองค์เป็นอุปสัมปทาเปกข์ (ผู้ประสงค์อุปสมบท) ในสำนักสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๙๙

ครั้นถึงวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๙ ได้เสด็จทรงผนวช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในสังฆสมาคม ๓๐ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระราชอุปัธยาจารย์เป็นประธานในการอุปสมบทกรรม เสร็จเวลา ๑๖.๒๓ นาฬิกา แล้วเสด็จฯ พระอุโบสถ พระพุทธรัตนสถาน ทรงประกอบการทัฬหีกรรมตามขัตติยราชประเพณี ในสังฆสมาคมฝ่ายธรรมยุต ๑๕ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงเป็นประธาน เสร็จเวลา ๑๗.๔๓ นาฬิกา แล้วเสด็จฯ โดยรถพระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สู่วัดบวรนิเวศวิหาร ในท่ามกลางประชาชน ที่มาเฝ้าพระบารมีอย่างแน่นขนัดสองฟากถนนตลอดถึงวัด ได้ทรงดำรงสมณเพศ ประทับทรงปฏิบัติพระธรรมวินัย อยู่ในสำนักสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอด ๑๕ ราตรี ทรงลาผนวช ณ วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๙

ทรงกรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรด ฯ สถาปนาสมณศักดิ์ และฐานันดรศักดิ์ สมเด็จพระราชอุปัธยาจารย์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ประกอบพระราชพิธี ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๙๙ ได้ถวายพัดมหาสมณุตมาภิเษก ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เศวตฉัตร ๓ ชั้น ได้เปลี่ยนเป็นฉัตรตาดเหลือง (หรือฉัตรตาดสีทอง) ๕ ชั้น สำหรับฐานันดรศักดิ์ กรมหลวงฯ

อภิธชมหารัฏฐคุรุ
รัฐบาลแห่งสหภาพพม่า ได้ถวายเฉลิมพระสมณศักดิ์ “อภิธชมหารัฏฐคุรุ” ซึ่งเป็นสมณศักดิ์สูงสุดของสหภาพพม่า แด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า นายกรัฐมนตรีพม่า ซึ่งได้รับเชิญมาร่วมในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในประเทศไทย ได้มาประกอบพิธีถวาย ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๐๐

พระกรณียะพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน
ถวายศาสโนวาทและเบญจศีล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในคราวแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๙

ทรงเป็นประธานพระสงฆ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ ๔-๘ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ในพระราชพิธีนี้ ได้ถวายพระครอบพระกริ่งกับพระครอบยันต์นพคุณ ณ มณฑปพระกระยาสนาน ถวายพระธรรมเทศนาทศพิธราชธรรม

ถวายพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ซึ่งประสูติ ณ วันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๕
ถวายพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินทรเทพรัตนสุดา ซึ่งประสูติ ณ วันเสาร์ที่ ๒ เมษายน ๒๔๙๘
ถวายพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ซึ่งประสูติ ณ วันพฤหัสบดีที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๐

ถวายพระนาม พระพุทธนาราวันตบพิตร ที่ได้ทรงสถาปนาและโปรดให้นำมา เมื่อเสด็จ ฯ ถวายพุ่ม วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๐๐ เพื่อประดิษฐานไว้ ณ พระปั้นหยา อันเป็นที่เสด็จประทับบำเพ็ญสมณปฏิบัติ ในระหว่างทรงผนวช

ถวายพระนาม พระโพธิ์ใต้แม่ว่า “พระโพธิมหัยยาเขตสุชาตภูมินาถ รัฐศาสนสถาวรางกูร” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ (หมายเหตุ - พระโพธิ์ต้นนี้เกิดมาจากพระโพธิ์ที่อันเชิญมาจากศรีลังกามาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาได้ตายลง แต่ก่อนจะตายได้มีพระโพธิ์ต้นใหม่เกิดขึ้นมา เรียกว่า พระโพธิ์ใต้แม่)

ประชวรครั้งอวสาน
หลังจากประชวรครั้งใหญ่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้ประชวรกระเสาะกระแสะ พระวรกายทรุดโทรมเรื่อยมา แต่อาศัยที่ได้ถวายการรักษาพยาบาล และประคับประคองเป็นอย่างดีอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับมีพระหฤทัยเข้มแข็งปล่อยวาง จึงทรงดำรงพระชนม์มาได้โดยลำดับ จนถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๐๑ จึงปรากฏพระอาการประชวรมาก มีพระโลหิตออกกับบังคลหนัก ต้องรีบนำเสด็จสู่ตึกสามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต่อมาในเดือนกันยายน ๒๕๐๑ เริ่มปรากฏพระอาการเป็นอัมพาต แพทย์สันนิษฐานว่า เส้นพระโลหิตในสมองตีบตัน แต่ต่อมาพระอาการค่อยดีขึ้นบ้าง แล้วก็กลับทรุด

พระราชทานพัดรัตนาภรณ์ ชั้น ๑
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถวายพัดรัตนาภรณ์ ชั้น ๑ เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๑

ส่วนในรัชกาลอดีต ในรัชกาลที่ ๕ ไม่ปรากฏหลักฐาน ในรัชกาลที่ ๖ ได้พบหลักฐานเพียงว่าเตรียมพัดรัตนาภรณ์ชั้น ๓ สำหรับพระราชทานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ และได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ ชั้น ๒ เมื่อไรยังไม่พบหลักฐาน ในรัชกาลที่ ๗ ได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ชั้น ๑ เมื่อวันที่ ๘พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑

ปัจฉิมกาล
ครั้นเวลาหลังเที่ยงคืนของวันที่ ๑๐ นับเป็นวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ ประทับหน้าพระแท่นบรรทมในห้องประชวร สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา ๐๑.๐๘ น. มีพระชนมายุ ๘๕ พรรษา ๑๑ เดือน และ ๑๙ วัน

เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก