หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)

พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
[ วัดมหาธาตุ ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๐ ฉบับที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๙ )
พระประวัติโดยสังเขป

ภูมิลำเนาเดิม
(ไม่ปรากฏ)

วันประสูติ
วันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๐๔ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ

วันสถาปนา
เดือน ๔ ปี มะแม ตรงกับเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๖๕ ในรัชกาลที่ ๒

วันสิ้นพระชนม์
วันศุกร์ เดือน ๑๐ แรม ๔ ค่ำ ปีขาล ๒๓ กันยายน ๒๓๘๕ ในรัชกาลที่ ๓

พระชนมายุ
๘๑ พรรษา

ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ๑๙ ปี ๖ เดือน

พระประวัติเบื้องต้น
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) มีพระประวัติเบื้องต้น เป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏรายละเอียด ทราบแต่เพียงว่า ประสูติในในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๐๔ เดิมจะได้เปรียญ และเป็นพระราชาคณะตำแหน่งใดมาก่อนหรือไม่ ไม่ปรากฏหลักฐาน กระทั่งมาในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงปรากฏหลักฐานว่าเป็นพระเทพโมลี อยู่วัดหงษ์ ถึงรัชกาลที่ ๒ เลื่อนขึ้นเป็นที่ พระพรหมมุนี แล้วเลื่อนขึ้นเป็นที่พระพิมลธรรม เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙ ในคราวเดียวกับที่ทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (มี)

อนึ่ง วัดหงษ์นี้ แต่เดิมมาเรียกกันว่า วัดเจ๊สัวหงบ้าง วัดเจ้าสัวหงบ้าง วัดเจ้าขรัวหงบ้าง ตามชื่อของคหบดีจีนที่เป็นผู้สร้างวัด มาในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม เนื่องจากเป็นพระอารามที่อยู่ติดกับพระราชวัง และพระราชทานชื่อว่า วัดหงษ์อาวาสวิหาร จึงได้เป็นพระอารามหลวง และพระอารามสำคัญมาแต่ครั้งนั้น มาในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงปฏิสังขรณ์ จึงพระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า วัดหงษ์อาวาสบวรวิหาร เพราะเป็นพระอารามที่อยู่ใกล้กับพระราชวังเดิม อันเป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ จึงได้พระราชทานเปลี่ยนนามอีกครั้งหนึ่งว่า วัดหงสาราม ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อทรงปฏิสังขรณ์เสร็จบริบูรณ์แล้ว จึงพระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า วัดหงส์รัตนาราม ดังที่เรียกกันสืบมาจนปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๓๖๒ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดำริจะทรงตั้ง สมเด็จพระพนรัตน์ (อาจ) วัดสระเกศ เป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงโปรดให้แห่ไปอยู่วัดมหาธาตุ เพื่อเตรียมการทรงตั้งต่อไป และโปรดให้พระพิมลธรรม (ด่อน) ย้ายจากวัดหงษ์มาครองวัดสระเกศสืบต่อจาก สมเด็จพระพนรัตน์ (อาจ) ในปี พ.ศ. ๒๓๖๒ นั้น

สำหรับสมเด็จพระพนรัตน์ (อาจ) นั้นเมื่อแห่ไปอยู่วัดมหาธาตุได้ ๘ เดือน ยังมิทันได้ทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็เกิดอธิกรณ์ขึ้นเสียก่อน จึงโปรดให้ถอดเสียจากสมณฐานันดร แล้วให้ออกไปเสียจากวัดมหาธาตุ จึงไปอยู่ที่วัดไทรทอง (บางที่เรียกว่า วัดแหลม) ซึ่งเป็นวัดเบญจมบพิตรในบัดนี้ จนถึงมรณภาพ

พ.ศ. ๒๓๖๓ ทรงโปรดให้เลื่อน พระพิมลธรรม (ด่อน) เป็นสมเด็จพระพนรัตน์ ในคราวเดียวกันกับที่ทรงตั้ง สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ครั้น พ.ศ. ๒๓๖๕ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงตั้ง สมเด็จพระพนรัตน์ (ด่อน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชเมื่อเดือน ๔ ในศกนั้น แต่ไม่พบสำเนาประกาศสำเนาทรงตั้ง เมื่อทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว จึงโปรดให้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุเช่นเดียวกับสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนๆ นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ สุดท้ายที่สถิต ณ วัดมหาธาตุ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๒ และทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ได้ ๒ ปีเศษ ก็สิ้นรัชกาลที่ ๒

พระกรณียกิจพิเศษ
ในปลายรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจสำคัญ คือทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์ ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันอังคาร เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ตรงกับกับวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ เมื่อทรงผนวชแล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดมหาธาตุ ๓ วัน แล้วเสด็จไปประทับศึกษาวิปัสสนาธุระ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) หลังจากทรงผนวชได้เพียง ๑๕ วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็เสด็จสวรรคต เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้เสด็จกลับมาประทับ ณ วัดมหาธาตุ เพื่อทรงศึกษาภาษาบาลีต่อไป พระตำหนักอันเป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชครั้งนั้น คือตรงที่ปัจจุบันสร้างเป็นวิหารโพธิลังกา ซึ่งอยู่ทางมุมวัดมหาธาตุด้านทิศตะวันออก หลังพระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทในบัดนี้

การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาครั้งสำคัญ
เนื่องมาจากการทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยของสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และคณะสงฆ์ที่นับว่าสำคัญครั้งหนึ่ง ในประวัติการณ์ของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยในเวลาต่อมา กล่าวคือ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับมาประทับทรงศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดมหาธาตุ จนทรงรอบรู้ในภาษาบาลีและเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกแล้ว ก็ทรงพิจารณาเห็นความบกพร่องในวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในยุคนั้น ดังพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

“ผลแห่งการที่ทรงศึกษาและพิจารณาทั่วถึงละเอียดเข้า ก็ให้เกิดความสลดพระราชหฤทัยไปว่าวัตรปฏิบัติแลอาจาริยสมัย ซึ่งได้นำสั่งสอนกันสืบๆ มานี้ เคลื่อนคลาดห่างเหิน แลหยาบหย่อนไปเป็นอันมาก ดูประหนึ่งว่าจะมีรากเง่าเค้ามูลอันเน่าผุไปเสียแล้ว”

ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว จึงเป็นเหตุให้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริปรับปรุงแก้ไขวัตรปฎิบัติของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตาม พระธรรมวินัยดังที่ได้ทรงศึกษาจากท่าน ผู้รู้และพิจารณาสอบสวน กับพระไตรปิฏกที่ได้ทรงศึกษาจนเชี่ยวชาญแตกฉาน โดยพระองค์เองทรงประพฤตินำขึ้นก่อนแล้วภิกษุสามเณรอื่นๆ ที่นิยมเลื่อมใสก็ประพฤติตาม

ในระยะแรกที่ทรงพระราชดำริปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ดังกล่าวนั้น ยังเสด็จประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ จึงทรงรู้สึกไม่สะดวกพระราชหฤทัย เพราะวัดพระมหาธาตุเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช ทั้งทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระองค์ด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงย้ายไปประทับ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) อันเป็นวัดที่อยู่นอกกำแพงพระนคร ทั้งนี้ก็คงเพราะความที่ทรงเคารพในสมเด็จพระสังฆราช และเพื่อจะได้ไม่เป็นที่ขัดข้องพระทัยของสมเด็จพระสังฆราช เกี่ยวกับการปฏิบัติของพระองค์นั่นเอง

เมื่อเสด็จไปประทับ ณ วัดสมอรายแล้ว ก็ทรงปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ตามแนวแห่งพระราชดำริได้สะดวกนั้น กระทั่งมีผู้ปฏิบัติตามเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับจนกลายเป็นพระสงฆ์หมู่ใหญ่ ซึ่งได้รับการขนานนามในเวลาภายหลังต่อมาว่า คณะธรรมยุติกนิกาย หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า พระสงฆ์ธรรมยุต

พระราชดำริในการปรับปรุงแก้ไขพระศาสนา ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มิได้จำกัดอยู่เฉพาะ เรื่องวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์เท่านั้น แต่รวมตลอดไปถึงการศึกษาพระปริยัติธรรม และการเทศนาสั่งสอนพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัทด้วย จึงนับเป็นช่วงแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญช่วงหนึ่งของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

สมณทูตไปลังกา
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ทรงพระชนม์สืบมาถึงรัชกาลที่ ๓ และในปีสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ ของสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นพร้อมกัน กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชอยู่และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ในขณะนั้นว่า การพระศาสนาในลังกาจะเป็นอย่างไร ไม่ได้ไปสืบสวนให้ทราบความช้านานหลายปีมาแล้ว อีกประการหนึ่ง หนังสือพระไตรปิฏกที่ฉบับของไทยยังบกพร่อง ควรจะสอบสวนกับฉบับลังกามีอยู่หลายคัมภีร์ ถ้าแต่งพระภิกษุสงฆ์ไทยเป็นสมณทูตไปลังกาอีกสักครั้งหนึ่ง เห็นจะเป็นการดี ทรงพระราชดำริเห็นพร้อมกันเช่นนี้ จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสรรพระภิกษุที่จะส่ง ไปลังกา และมีสมณลิขิตไปถึงสังฆนายกตามพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกได้พระภิกษุสงฆ์ธรรมยุติกา ๕ รูป พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรชาวลังกาอีก ๕ รูป ซึ่งเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อ ๒ ปีก่อน และเดินทางกลับบ้านเมืองของตนในคราวนี้ด้วย ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยเรือหลวง ชื่อจินดาดวงแก้ว เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๒ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๘๕ สมณทูตชุดนี้เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ในเดือน ๖ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๘๖ พร้อมทั้งได้ยืมคัมภีร์พระไตรปิฎกมาด้วย ๔๐ คัมภีร์

ตามเรื่องราวที่ปรากฏแสดงว่า การสมณทูตไทยไปลังกาครั้งนี้ ยังประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะทำให้คณะสงฆ์ไทย มีโอกาสได้คัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกามาสอบสวน กับพระไตรปิฏกของไทยในส่วน ที่บกพร่องสงสัย ให้สมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้คัมภีร์พระไตรปิฎก ที่เป็นหลักฐานสำคัญของพระพุทธศาสนาครบถ้วนสมบูรณ์สืบมา ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ชำระพระสงฆ์ครั้งใหญ่
ในตอนปลายสมัยของสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) นี้ ได้มีการชำระความพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารครั้งใหญ่ ดังที่บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารว่า “เมื่อ ณ เดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ เกิด ชำระความพระสงฆ์ ที่ประพฤติอนาจารมิควร ได้ตัวชำระสึกเสียก็มาก ประมาณ ๕๐๐ เศษ ที่หนีไปก็มาก พระราชาคณะเป็นปาราชิกก็หลายรูป” นับเป็นการชำระสะสางอลัชชีในคณะสงฆ์ครั้งใหญ่ที่สุด เท่าที่ปรากฏในประวัติการณ์ของคณะสงฆ์ ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมโทรม ของคณะสงฆ์ในยุคนั้นในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความเอาพระทัยในการคณะสงฆ์ของ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอย่างจริงจัง ทรงพยายามชำระสะสางการพระศาสนา และการคณะสงฆ์ให้บริสุทธิบริบูรณ์อย่างเต็มพระสติปัญญาอยู่เสมอ

พระอวสานกาล
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ ๑๙ ปี ๖ เดือน สิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๐ แรม ๔ ค่ำ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๓๘๕ รวมพระชนมายุได้ ๘๑ พรรษา โปรดให้ทำเมรุผ้าขาว แล้วพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๕


เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก