หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระอนุรุทธเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระอนุรุทธเถระ
 
บุพกรรมในอดีต
ท่านพระอนุรุทธเถระ ก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย ก่อสร้างบุญทั้งหลาย อันเป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพาน ไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ อันสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ พอเจริญวัยแล้ว วันหนึ่งไปวิหารฟังธรรม ในสำนักของพระศาสดา เห็นพระภิกษุรูปหนนึ่ง ที่พระศาสดาทรงแต่งตั้งไว้ ในตำแหน่งเลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้มีจักษุทิพย์ แม้ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงให้มหาทานให้เป็นไป ๗ วัน แด่พระผู้มีพระภาค ซึ่งมีภิกษุบริวารแสนหนึ่ง ในวันที่ ๗ ได้ถวายผ้าชั้นสูงสุด แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ แล้วได้ทำความปรารถนาไว้

ฝ่ายพระศาสดา ก็ได้ทรงเห็นความสำเร็จของเขา โดยไม่มีอันตราย จึงพยากรณ์ว่า จักเป็นผู้เลิศ แห่งผู้มีทิพยจักษุทั้งหลาย ในศาสนาของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคตกาล เขาเองก็กระทำบุญทั้งหลาย ในพระศาสนานั้น เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ได้ทำการบูชาด้วยประทีปอันโอฬาร ที่สถูปทองขนาด ๗ โยชน์ และประทีปกระเบื้อง กับถาดสำริดเป็นอันมาก ด้วยอธิษฐานว่า จงเป็นอุปนิสัย แก่ทิพยจักษุญาณ เขาทำบุญทั้งหลายอยู่ตลอดชีวิต ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก

ในกาลแห่งพระพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ เมื่อพระศาสดาปรินิพพาน เมื่อสถูปทองขนาด ๑ โยชน์สำเร็จแล้ว จึงเอาถาดสำริดจำนวนมาก มาบรรจุให้เต็มด้วยเนยใส อันใสแจ๋ว และให้วางก้อนน้ำอ้อยงบ ก้อนหนึ่งๆ ไว้ตรงกลาง ให้ขอบปากกับขอบปากจรดกัน แล้วให้ตั้งล้อมพระเจดีย์ ให้เอาถาดสำริด ที่ตนถือบรรจุด้วยเนยใส อันใสแจ๋วให้เต็ม จุดไฟพันไส้ แล้ววางไว้บนศีรษะ เดินเวียนพระเจดีย์อยู่ตลอดคืน ได้กระทำกุศล จนตลอดชีวิต แล้วบังเกิดในเทวโลก ดำรงอยู่ในเทวโลกตลอดชั่วอายุ

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านบังเกิด เป็นพระราชโอรสของเจ้าอมิโตทนะ ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ ประสูติร่วมพระมารดาเดียวกันสามพระองค์ คือ พระเชษฐา (พี่ชาย) พระนามว่า มหานาม พระกนิฏฐภคินี (น้องสาว) พระนามว่า โรหิณี รวมเป็นสามกับอนุรุทธกุมาร ถ้านับตามลำดับพระวงศ์ เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมศาสดา

อนุรุทธกุมาร เป็นกษัตริย์อันสุขุมาลชาติ มีปราสาทสามหลังเป็นที่อยู่ ในฤดูทั้งสาม สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคาร (ทรัพย์ที่ทำให้คนได้รับเกิดความรัก ความชอบใจ) และบริวารยศ แม้ที่สุดคำว่า “ไม่มี” ก็ไม่รู้จักและไม่เคยได้สดับเลย

สาเหตุการออกบวช
พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม ของมัลลกษัตริย์ ในเวลานั้นศากยกุมาร ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก ออกบวชตามพระบรมศาสดา

วันหนึ่ง เจ้ามหานามะ ผู้เป็นพระเชษฐา มาปรารภถึงเรื่องนี้แล้ว จึงปรึกษากับอนุรุทธะผู้น้องว่า พ่ออนุรุทธะ ในตระกูลของเราไม่มีใคร ๆ ออกบวชตามพระบรมศาสดาเลย เจ้าหรือพี่ คนใดคนหนึ่งควรจะออกบวชด้วย อนุรุทธะตอบว่า น้องเป็นคนเคยตั้งอยู่ในความสุข ไม่สามารถจะออกบวชได้ พี่บวชเองเถิด

เจ้ามหานามจึงกล่าวขึ้นว่า ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงเรือนให้รู้จักการงานของผู้ครองเรือนเสียก่อน พี่จะสอนเจ้าจงตั้งใจฟังครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว เจ้ามหานามจึงสอนการงาน ของผู้ครองเรือน ยกการทำนา เป็นต้น ขึ้นสอน เมื่ออนุรุทธะได้ฟังแล้ว ก็เห็นว่าการงานไม่มีที่สิ้นสุด ที่สุดของการงานไม่มีปรากฏ จึงคิดเบื่อหน่ายในการงาน พูดกับพี่ชายว่า ถ้าอย่างนั้นพี่อยู่ครองเรือนเถิด น้องจักบวชละ

ครั้นอนุรุทธะกล่าวอย่างนั้นแล้ว จึงเข้าไปหาพระมารดา ทูลว่า แม่ หม่อมฉันอยากจะบวช ขอพระแม่เจ้าจงอนุญาตให้หม่อมฉันบวชเถิด พระมารดาตรัสห้ามไม่ยอมให้บวช อนุรุทธะก็อ้อนวอนขอให้อนุญาตให้บวชเป็นหลายครั้ง พระมารดาเห็นดังนั้น จึงคิดอุบายที่จะไม่ให้อนุรุทธะบวช ดำริถึงพระเจ้าภัททิยะ ผู้เป็นสหายของอนุรุทธะ ท่านคงจะไม่ออกบวชเป็นแน่ จึงพูดว่า พ่ออนุรุทธะ ถ้าพระเจ้าภัททิยะบวชด้วย จงบวชเถิด อนุรุทธะได้ฟังอย่างนั้นแล้ว ไปเฝ้าพระเจ้าภัททิยะ ทูลตามโอวาทของผู้คุ้นเคยกันว่า เพื่อนเอ๋ย บรรพชาของเราเนื่องด้วยบรรพชาของท่าน

ในชั้นต้น พระเจ้าภัททิยะทรงปฏิเสธ ไม่ยอมบวช แต่ทนอ้อนวอนไม่ได้ ผลที่สุดตกลงใจยินยอมบวชด้วย อนุรุทธะ จึงชักชวนศากยกุมารอื่นได้อีก คือ อานันทะ, ภคุ, กิมพิละ, โกลิยกุมาร อีกหนึ่งคือ เทวทัตต์ เป็นเจ็ดกับทั้งอุบาลี ซึ่งเป็นภูษามาลา พร้อมใจกันออกบวช เมื่อไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยนิคม ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย

ตรึกตรองถึงมหาปุริสวิตก ๗ ประการ
อนุรุทธะ เมื่อได้อุปสมบทแล้ว เรียนพระกรรมฐานในสำนักพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแล้ว เข้าไปอยู่ราวป่าปาจีนวังสมฤคทายวัน เมื่อเจริญสมณธรรมอยู่ ได้ตรึกตรองถึงมหาปุริสวิตก ๗ ประการว่า
๑. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีความปรารภน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความมักมาก
๒. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สันโดษยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ
๓. ธรรมนี้เป็นของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่คณะ
๔. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน
๕. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีสติมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีสติหลงฯ
๖. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีใจมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่มั่นคง
๗. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทรามฯ

บรรลุอรหัตผล
เมื่อพระอนุรุทธะตรึกอยู่อย่างนี้ พระบรมศาสดาเสด็จมาถึงทรงทราบว่าพระอนุรุทธะตรึกอยู่อย่างนั้น ทรงอนุโมทนาว่าชอบละๆ อนุรุทธะท่านตรึกตรองธรรม ที่พระมหาบุรุษตรึกตรอง ถ้าอย่างนั้น ท่านจงตรึกธรรมที่พระมหาบุรุษตรึกเป็นที่แปดว่า
๘. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่ให้เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมให้เนิ่นช้า

ครั้นตรัสสอนพระอนุรุทธะอย่างนี้แล้ว เสด็จกลับมาที่ประทับ ส่วนพระอนุรุทธะบำเพ็ญเพียรไปก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล

เอตทัคคะในทางผู้มีทิพยจักษุญาณ
ตั้งแต่นั้นมาท่านก็เล็งแลดูสัตว์โลกด้วยทิพยจักษุเสมอ เล่ากันว่ายกเว้นแต่เวลาฉันเท่านั้น เวลาที่เหลือท่านเจริญอาโลกกสิณตรวจดูเหล่าสัตว์ด้วยทิพยจักษุ

ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า อนุรุทธะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้มีทิพยจักขุในศาสนาของเรา.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระอนุรุทธเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีทิพยจักษุญาณ


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก