หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย พระราชสังวราภิมณฑ์ : หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณณเถร
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
พระราชสังวราภิมณฑ์ : หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณณเถร
หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณณเถร
พระราชสังวราภิมณฑ์ : หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณณเถร
๒๗ มีนาคม ๒๔๒๙ - ๕ มีนาคม ๒๕๒๔
วัดประดู่ฉิมพลี แขวงท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
--------------------
สถานะเดิม
       พระราชสังวราภิมณฑ์ ( โต๊ะ อินทสุวณณเถร ) วัดประดู่ฉิมพลี หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า “หลวงปู่โต๊ะ” ท่านเป็นชาวสมุทรสงครามโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีกุนยังเป็นอัฐศกตรงกับวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๒๙ ณ.บ้านคลองบางน้อย ตำบลบางพรมหม อำเภอคณฑี เป็นบุตร นายพลอย กับ นางทับ รัตนคอน มีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันคนหนึ่งชื่อ เฉื่อย เมื่อเยาว์วัยอยู่กับบิดามารดา และได้เล่าเรียนวิชาหนังสือไทยที่วัดเกาะแก้ว ปากคลองบางน้อย ใกล้บ้านเกิด ครั้นมารดาถึงแก่กรรม พระภิกษุแก้ว ผู้เป็นญาติบวชอยู่กับพระอุดรคณารักษ์ วัดพระเชตุพน ฯ กรุงเทพ ฯ พาท่านมาฝากให้อยู่กับอธิการสุข วัดประดู่ฉิมพลี เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ส่วนนายเฉื่อยน้องชายนั้นมิได้ตามมาด้วย

บรรพชา อุปสมบท
      ท่านมาเรียนหนังสือต่อที่วัดประดู่ฉิมพลีอีกประมาณ ๔ ปี พออายุได้ประมาณ ๑๗ ปี ก็บรรพชา เป็นสามเณรที่วัดนี้ โดยมีพระอธิการสุขเป็นอุปัชฌาย์ บรรพชาได้วันเดียวพระอธิการสุข ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ และผู้อุปการะของท่านก็ได้มรณะภาพ นายคล้าย นางพันธ์ ซึ่งเป็นพี่ชายกับพี่สะใภ้ของพระอธิการสุข และมีบ้านอยู่ใกล้วัดประดู่ฉิมพลีจึงได้อุปาการะท่านต่อมา

      เมื่อบรรพชาแล้ว ท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักวัดประดู่ฉิมพลี ซึ่งมีพระอธิการคำเป็นเจ้าอาวาสปกครองสืบมา พร้อมกับเรียนกรรมฐานกับพระอาจารย์พรหมอีกทางหนึ่งด้วย จนกระทั่งอายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดประดู่ฉิมพลี เมื่อวันอังคาร เดือน ๘ อุตตราษาฒขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะแม นพศก ตรงกับ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๐ เวลา ๑๕.๓๐ นาฬิกา พระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) วัดปากน้ำ (ภาษีเจริญ) เป็นอุปัชฌาย์ พระครูอักขรานุสิต (ผ่อง) วัดนวลนรดิศ เป็นกรรมวาจาจารย์ พระครูธรรมวิรัต (เชย) วัดกำแพง เป็นอนุสาวนาจารย์ มีฉายาในพระพุทธศาสนาว่า “อินทสุวณโณ” ได้เล่าเรียนปฏิบัติทั้งทางคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ทั้งสองด้าน ด้วยความวิริยะอุตสาหะ จนสอบนักธรรมชั้นตรีได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ และปีนั้นเองเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีว่างลงอีก เพราะพระอธิการคำมาณภาพทางคณะสงฆ์ จึงแต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม

ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ และสมณศักดิ์
      พระอธิการโต๊ะได้บริหารงานของวัด ตลอดจนปกครองพระภิกษุสามเณรสัทธิวิหาริกอันเตวาสิก ด้วยความเที่ยงธรรมสม่ำเสมอ ประกอบด้วยเมตตากรุณา สงเคราะห์อนุเคราะห์ด้วยปัจจัยสี่ ให้ได้รับความร่มเย็นทั่วหน้า ทั้งได้ประพฤติปฏิบัติสมณธรรม เป็นอจลพรมหมจรรย์ตลอดมา จึงได้รับตำแหน่งทางคณะสงฆ์ และสมณศักดิ์สูงขึ้นสูงขึ้นเป็นลำดับ คือ

      พ.ศ. ๒๔๕๕–๒๔๕๗ เป็นเจ้าคณะตำบลวัดท่าพระ
      พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นพระครูสังฆวิชิต ฐานานุกรมของสมเด็จพระวันรัต (เฮงเขมจารี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ แต่ครั้งยังเป็นพระเทพโมลี
      พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูวิริยกิตติ
      พ.ศ. ๒๔๙๗ เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทในราชทินนามเดิม (พัด จ.ป.ร.)
      พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นพระอุปัชฌายะ
      พ.ศ. ๒๕๐๖ เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
      พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นประธานกรรมการตรวจสอบบัญชีของวัดประจำตำบล วัดท่าพระ
      พ.ศ. ๒๕๑๑ เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ
      พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่พระสังวรวิมลเณร
      พ.ศ. ๒๕๒๑ เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชสังวราภิมณฑ์

วัดประดู่ฉิมพลี
      พระราชสังวราภิมณฑ์ ท่านอยู่กับวัดประดู่ฉิมพลีมาตั้งแต่เด็ก บรรพชาอุปสมบทที่วัดนี้ และได้เป็นอธิบดีสงฆ์วัดนี้มาช้านานถึง ๖๙ ปีจนมรณภาพ พูดได้ว่า ท่านผูกพันกับวัดประดู่ฉิมพลีอย่างแน่นแฟ้นมาตลอดชีวิต ท่านจึงเป็นธุระดูแลบูรณะปฏิสังขรณ์ และทำความเจริญต่าง ๆ ให้แก่วัดของท่านเอง ความเจริญทั้งหลายทุก ๆ ด้านที่บังเกิดแก่วัดประดู่ฉิมพลีในทุกวันนี้ ถ้าจะพูดว่าเป็นผลงานของท่าน ก็ไม่มีผู้ใดจะปฏิเสธได้

      อันวัดประดู่ฉิมพลีนี้เดิมเรียกว่าวัดสิมพลี เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเรียกว่า วัดประดู่นอกคู่กับวัดประดู่ในหรือวัดประดู่ในทรงธรรม จะเป็นวัดมีมาแต่เดิมหรือไม่ไม่ทราบได้ สมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาพิชยญาติ (ทัต บุนนาค) แต่ครั้งยังเป็นพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า ได้สถาปนาขึ้น เมื่อปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาสำเร็จบริบูรณ์เอาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ้นเวลาถึง ๘ ปี

      วัดประดู่ฉิมพลี อยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ มีเนื้อที่เฉพาะเขตอาราม ไม่รวมที่ธรณีสงฆ์ถึง ๑๓ ไร่เศษ จัดว่าเป็นวัดใหญ่และงดงามมั่นคงมาก ผิดกว่าวัดที่เป็น “วัดราษฎร์” ทั่วไป ด้วยเหตุที่ท่านผู้สร้าง ท่านเป็นผู้มีวาสนาบารมีสูงในแผ่นดิน คือเป็น “ผู้สำเร็จราชการในพระนครทุกสิ่งทุกพนักงาน” ทั้งยังว่าการพระคลังสินค้าด้วย ภูมิสถานที่ตั้งวัด คิดดูในสมัยก่อนจะต้องสง่างามอย่างยิ่ง ด้วยเขตวัดด้านหน้าจดคลองบางกอกใหญ่ (บางหลวง) ซึ่งเป็นคลองใหญ่ตลอดแนว มีศาลาท่าน้ำ มีลานหน้าวัดกว้างขวาง เขตพุทธาวาสมีกำแพงก่ออิฐถือปูน มีบัวทั้งข้างล่างข้างบนตลอดแนว บนกำแพงทำเป็นเสาหัวเม็ดยอดปริกห้าชั้น ลานหน้าวัดภายในกำแพง ปูด้วยแผ่นหินแกรนิตจากเมืองจีนทั้งหมด ตรงกำแพงด้านหน้าเป็นประตูเข้าสู่พุทธาวาส ซึ่งประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างที่เป็นหลักของวัด คือ

      ๑. อุโบสถขนาดใหญ่กว้าง ๖ วา ๒ ศอก ยาว ๑๖ วา ตั้งอยู่ลึกเข้าไปใกล้กับกำแพงด้านใน หรือด้านในขนานกับลำคลอง หน้าวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
      ๒. ถัดอุโบสถออกมาตรงกลางสร้างพระเจดีย์ทรงรามัญ องค์เจดีย์กลม แต่ฐานกบบัลลังก์เป็นแปดเหลี่ยม มีบัวประดับที่เชิงระฆัง ที่เหนือบัลลังก์ และที่ใต้ปลียอด กับ มีเครื่องประดับประดาที่ยอด ดังเช่นเจดีย์รามัญทั้งหลายทั่วไป เจดีย์นี้สร้างไว้เหนือเรือนตึกแปดเหลี่ยม ซึ่งเสามีรายและและมีชานโดยรอบทำนองมณฑป แต่เรียกกันว่าวิหาร ภายในวิหารเดิมจะประดิษฐานสิ่งใดไม่ทราบแน่ ปัจจุบันนี้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งเป็นของทำในชั้นหลัง
      ๓. ข้างนอกออกมามีวิหารน้อยมีมุขหน้าหลัง ๒ หลัง อยู่ตะวันออกหลังหนึ่ง ข้างตะวันตกหลังหนึ่ง หันหน้าไปทางทิศใต้ ลงคลองบางกอกใหญ่ หลังตะวันออกประดิษฐานพระยืน หลังตะวันตกประดิษฐานพระไสยาสน์.
      ๔. หน้าวิหารน้อยทั้งสองนั้น มีเจดีย์เหลี่ยมย่อมุขขนาดย่อมอีกหลังละองค์
      ๕. นอกจากนี้ก็มีหอวัดระฆังและหอพระไตรปิฎก ซึ่งบัดนี้รื้อลงสร้างหอสมุดแทน สังฆาวาสอยู่ลึกลงไปทางข้างใต้ จะเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่ เพราะรื้อลงปรับปรุงใหม่เกือบหมดแล้ว เหลือแต่กุฏิใหญ่ที่เป็นกุฏิเจ้าอาวาสหลังเดี่ยว

นั่งสมาธิในอุโบสถ วัดประดู่ฉิมพลี
      อาคารอันเป็นอุโบสถวิหารทั้งหมด สร้างตามแบบที่เรียกกันว่าเป็น “พระราชนิยม” ในรัชกาลที่ ๓ คือเป็นแบบที่มุ่งหมายให้ความมั่นคงถาวรยิ่งกว่าอื่น เพราะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นตังแต่ในรัชกาลที่หนึ่ง เมื่อแรกสถาปนาพระนครกรุงเทพ ฯ มีอายุล่วงเข้า ๕๐ ปีแล้วเป็นฟื้น เกิดชำรุดทรุดโทรมลงทั่วกัน ถึงคราวต้องบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงรับภาระเป็นอันมาก ในการบูรณะปฏิสังขรณ์ดังกล่าวนั้น นับเฉพาะวัดก็ถึง ๑๗ วัด

      ซึ่งแต่ละแห่งที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ เรียกได้ว่าเท่า ๆ กับสร้างใหม่ เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดโมฬีโลกยาราม วัดอินทาราม เป็นต้น ทั้งยังทรงพระราชศรัธาสร้างขึ้นใหม่ ๓ วัด และพระราชทานทุนอุดหนุนผู้มีศรัทธา ให้สร้างขึ้นด้วยอีกถึง ๓๓ วัด การซ่อมสร้างทั้งนั้น ย่อมหมดเปลืองทุนทรัพย์จำนวนมาก ถึงเศรษฐกิจการเงินของบ้านเมือง จะกำลังมั่นคงรุ่งเรืองขึ้นมากในเวลานั้น ก็ยังต้องคำนึงถึงเรื่องการประหยัด และความคงทนทานถาวรด้วยเป็นหลัก ดังนั้นการสร้างทำอาคารสถานต่าง ๆ นอกจากจะสร้างทำตามแบบสถาปัตยกรรมไทยแท้อย่างเดิมแล้ว จึงได้ทรงสร้างตามแบบ ที่ทรงพระราชดำริแก้ไขขึ้นมาใหม่ ซึ่งถือความแข็งแรงมั่นคงเป็นหลักด้วย ตามแบบพระราชนิยมอย่างใหม่นี้

      ส่วนของอาคาร ส่วนใดที่ทำด้วยไม้ และพอจะเปลี่ยนเป็นอิฐเป็นปูนได้เป็นเหลี่ยม ส่วนประดับประดาที่เคยใช้ไม้มาวาดเจียนจำหลักจนบอบบาง เช่นช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ก็โปรดให้ลดเสีย หรือใช้อิฐปูนก่อตั้งแทน ลายจำหลักไม้ปิดทอประดับกระจก ก็เปลี่ยนเป็นลายปั้นปูนประดับกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ สี หน้าบันอย่างเก่าที่มีไขราคูหา เป็นที่น้ำฝนจะติดขัง นกหนูจะอาศัยทำรังให้รกรุงรังได้ ก็เปลี่ยนเป็นหน้าบัน ก่อปูนปิดตันหมดเป็นกะเท่เซ น้ำฝนขังติดอยู่ได้เหมือนแบบเก่า ดูตัวอย่างได้ที่วัดที่ทรงสถาปนา และที่ผู้อื่นสถาปนามากมายหลายวัด เช่น วัดราชโอรส วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดเทพธิดา วัดนางรอง วัดอัปสรสวรรค์ วัดจันทาราม วัดสัมพันธวงศ์ (รื้อแล้ว) วัดกลางจังหวัดสมุทรปราการ วัดนางชี วัดเศวตฉัตร วัดมหรรณพาราม วัดกัลยานิมิตร ดังนี้ อุโบสถวัดประดู่ฉิมพลี ซึ่งสร้างในครั้งนั้น จึงสร้างตามแบบพระราชนิยมดังกล่าว คือยกฐานสูงสองชั้น เป็นฐานรองตัวอุโบสถชั้นหนึ่ง เป็นชานโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มีบันไดขึ้นที่ฐานทั้ง ๔ ด้าน ภายในอุโบสถที่ยื่นมาปกคลุม มุขหน้าหลังและชานโดยรอบอุโบสถ หน้าบันเป็นแบบกะเท่เซ ปั้นลายปูนประดับกระเบื้องเคลือบต่างสี ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นลายปูนเป็นลายดอกไม้ใบไม้ บานประตูหน้าต่างปิดทอง ประดับกระจกลายยา เป็นทำนองลายแก้วเชิงดวง ผนัง เพดาน ภายในเขียนลายฮ่อ (ซึ่งบัดนี้ลบเสียเกือบหมดแล้ว) แต่ฐานพระประธานนั้นทำเป็นฐานสิงห์ ปั้นปูนปิดทองประดับกระจกอย่างไทย ให้สมกับองค์พระที่เป็นแบบสุโขทัย

      พระประธานวัดประดู่ฉิมพลีนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ท่านพยายามเสาะแสวงหาและเลือกสรรอย่างยิ่ง มีความกล่าวในประวัติวัดบวรนิเวศวิหารว่า เจ้าอธิการวัดอ้อยช้าง (เรียกวัดบางอ้อก็เรียก) จังหวัดนนทบุรี จำชื่อไม่ได้ ไปเชิญเอาพระศาสดามาแต่จังหวัดพิษณุโลก จะมาไว้ที่วัดอ้อยช้าง สมเด็จเจ้าพระยาท่านทราบเข้า จึงไปขอมาเป็นพระประธานวัดประดู่ฉิมพลีที่สร้างใหม่ ครั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทเข้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระศาสดา เคยอยู่กับพระพุทธชินสีห์มาก่อน จึงมีพระบรมราชโองการให้ไปเชิญพระศาสดาจากวัดประดู่ฉิมพลี มาไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ขณะที่เชิญมานั้น ยังสร้างพระวิหารไม่เสร็จ โปรดให้นำไปไว้ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม ชั่วคราวก่อน เมื่อเดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ ปีฉลูเบญจศก พ.ศ. ๒๓๙๖

      เมื่อมีพระพระบรมราชโองการ ให้เชิญพระศาสดาไปแล้ว กล่าวกันว่าสมเด็จเจ้าพระยาท่าน ไปเลือกสรรพพระพุทธรูปจากวัดอ้อยช้างได้อีกองค์หนึ่ง ขนาดไล่เลี่ยกับพระพระพุทธรูปสุโขทัยทั่วไป จัดเป็นพระพุทธรูปที่งดงามวิเศษ หายากยิ่งนัก ควรที่ผู้สนใจจะหาโอกาสชมและศึกษา วัดประดู่ฉิมพลี มีพระสังฆธิการปกครองเป็นเจ้าอาวาสตามลำดับมา แต่มิได้มีการบันทึกไว้ จึงไม่สามารถจะเรียงรายนามเจ้าอาวาสได้ครบ เพียงแต่จำกันได้ว่ามีพระอธิการแผว พระอธิการสุข และอธิการคำ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๕ จึงปรากฏนามพระอธิการโต๊ะเป็นเจ้าอาวาส ตามเอกสารประวัติพระสมณศักดิ์ และท่านได้ครองวัดยั่งยืนมาช้านานถึง ๖๙ ปี จนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ขณะนี้พระครูวิโรจน์กิตติคุณ รักษาการเจ้าอาวาสสืบมา

ความเจริญของวัดประดู่ฉิมพลียุคพระราชสังวราภิมณฑ์
      พระราชสังวราภิมณฑ์ ท่านมีความตั้งใจและอุตสาหะพยายามมาก ในการสร้างเสริมความเจริญทุก ๆ ด้านของวัดประดู่ฉิมพลี กรณียกกิจของท่านบำเพ็ญต่อเนื่องมาช้านาน เพื่อการนี้มากมายเกินกว่าที่จะจดจำ นำมาแสดงให้ครบถ้วนได้ จึงขอสรุปลงเป็น ๓ หัวข้อ ดังนี้

๑. ด้านการศึกษา
      ท่านเอาใจใส่ทำนุบำรุงมากทั้งการศึกษาของพระภิกษุสามเณรและของเยาวชน
      พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้จัดตั้งโรงเรียนประถมศึกษาขึ้น ชื่อว่า “โรงเรียนวิริยบำรุง” ซึ่งต่อมาได้โอนเข้าเป็นของเทศบาลและได้เปลี่ยนชื่อว่า “โรงเรียนวัดประดู่ฉิมพลี”
      พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้จัดตั้งโรงเรียนปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลีขึ้น แต่นั้นก็ได้จัดส่งพระภิกษุสามเณรเข้าสอบสนามหลวง เป็นประจำทำให้มีพระภิกษุสามเณรเข้ามาบวชเรียน ในสำนักวัดประดู่ฉิมพลีมาก ที่ไปเรียนต่อสำนักอื่นแล้วออกไปเป็นหลักของพระศาสนาในที่อื่น ก็มีมากมายหลายรุ่น ส่วนที่ท่านส่งเสริมให้ไปศึกษาต่างประเทศ เช่นประเทศอินเดียเพื่อรับปริญญาก็มีอีก
      พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้เป็นกรรมการจัดตั้งโรงเรียนวัดประดู่ในทรงธรรมในทรงธรรม ซึ่งเท่ากับเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาของท่าน

๒. ด้านการอบรมและเผยแพร่ธรรม
      ท่านเอาใจใส่อบรมธรรมปฏิบัติแก่ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกามาก ทั้งที่เป็นศิษย์ภายในวัดและที่มาจากนอกวัด ลงเทศน์อบรมกรรมฐาน และความคุมการปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ ตลอดมาเป็นเวลาช้านาน ได้ปลูกฝังศัทธาปสาทะในพระรัตนตรัย ให้แก่บุคคลทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะและอาชีพเป็นจำนวนนับพันนับหมื่น ยิ่งกว่านั้น ยังได้เคยเดินทางออกไปเผยแพร่ธรรมถึงต่างประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ คือเมื่อ ๔๗ ปีมาแล้ว เรียกได้ว้าก่อนที่ใคร ๆ จะคิดทำกัน ครั้งนั้นท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดสว่างอารมณ์ ปีนัง และได้ไปเทศน์สั่งสอนธรรมหลาย ๆ แห่ง ทั้งในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์

๓. ด้านการบูรณะปฏิสังขรณ์
      งานด้านนี้ท่านคงจะได้ทำมามากกว่ามาก นับตั้งแต่ท่านยังเป็นพระอันดับ เท่าที่มีหลักฐานปรากฏชัด เพราะเป็นงานสำคัญและเป็นงานที่ท่านทำในชั้นหลัง ๆ นี้ก็มี
       พ.ศ. ๒๔๗๕ สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังหนึ่ง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น จุนักเรียนประมาณ ๓๐๐ คน ชื่อว่า “โรงเรียนสายหยุดเกียรติยาคาร” สิ้นค่าก่อสร้างในสมัยนั้นประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๔๗๙ สร้างศาลาเปรียญ ๑ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ชั้นบน ใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล ชั้นล่างเป็นโรงเรียนประถมศึกษา (ส่วนหนึ่งของโรงเรียนวัดประดู่ฉิมพลี) ชื่อว่า “หออิศราภัสสรสุวภาพ”สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๐๐ สร้างเขื่อนไม้หน้าวัดแทนเขื่อนเก่าที่ชำรุดหักพัง และซ่อมแซมหลังคา หน้าบันอุโบสถด้านทิศตะวันตก ซึ่งหักพังลงมา ให้คืนสภาพเดิม โดยเปลี่ยนเป็นเทคอนกรีตเสริมเหล็กตลอดส่วนที่ชำรุด พร้อมทั้งซ่อมแซมหลังคา และทาสีอุโบสถใหม่หมดทั้งหลัง ทั้งสองรายการนี้สิ้นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๐๑ รื้อ ย้ายกุฏิ ๕ หลัง ๑๘ ห้อง ไปรวมหมู่เข้าแถวเดียวกันสิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๒๘,๐๐ บาท กับสร้างสะพานไม้ถาวร ข้ามคลองบางประกอกใหญ่ ระหว่างฝั่งวัประดู่ฉิมพลีกับฝั่งประตูน้ำภาษีเจริญ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๐๗ สร้างกุฏิกรรมฐานขึ้น ๔ หลัง พร้อมทางเดินจงกรม สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๒๔,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๐๘ ซ่อมแซมกุฏิ ๓ หลัง รวม ๘ ห้อง สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ ๒๖,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๐๙ สร้างหอสมุดขึ้น แทนหอพระไตรปิฎกหลังเก่าที่ชำรุดหมดสภาพ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ชั้นบนเป็นหอสมุดสำหรับวัดฯ เพื่อเก็บรวบรวมโบราณวัตถุ และใช้เป็นที่ศึกษาค้นคว้าพระปริยัติธรรม ชั้นล่างเป็นห้องเรียนประถมศึกษาได้ ๔ ห้องเรียน การก่อสร้างไม่เสร็จสิ้นในปีนั้น สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ ๖๕,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๑๐ สร้างกุฏิกรรมฐานขึ้นอีกหนึ่งหลัง สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๘,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๑๑ บูรณะกุฏิ ซึ่งเดิมเป็นหอสวดมนต์ขึ้นใหม่ พร้อมทั้งทาสีลงพื้นใหม่ และดำเนินการก่อสร้างหอสมุดต่อจนสำเร็จ สิ้นค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๑๒ สร้างกุฏิกรรมฐานขึ้นอีก ๕ หลัง สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๓๕,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๑๓ สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กริมคลองหน้าวัด แทนเขื่อนไม้ที่ชำรุดเสียหาย สิ้นค่าก่อสร้างประมาณทั้งสิ้น ๑๓๙,๓๐๐ บาท กับได้เสริมผนังกุฏิใหม่ชั้นล่างและกุฏิเล็ก อีก ๒ หลัง กั้นเป็นห้องได้ ๒๔ ห้อง สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๑๔ สร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเข้าวัด กว้าง ๓ เมตร ยาว ๕๐ เมตร สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสินประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๑๕ สร้างถนนคอนกรีตเหล็กหน้าวัด กว้าง ๓ เมตร ยาว ๕๐ เมตร สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๑๖ สร้างกุฏิใหม่แบบครึ่งตึกครึ่งไม้ สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๑๖๐,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๑๘ ปรับพื้นลานหน้าวัดบริเวณสังฆาวาสทั้งหมดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก สิ้นค้าใช้จ่ายประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๑๙ ซ่อมวิหาร ๒ หลัง และปรับพื้นอุโบสถโดยรอบ สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณทั้งสิ้น ๔๕,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๒๐ สร้างกำแพงแบ่งเขตบริเวณสังฆาวาสกับพุทธวาสเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน รอบบริเวณสังฆาวาส สิ้นค่าก่อประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๒๑ ซ่อมแซมโรงเรียนสายหยุดเกียรติยาคาร สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณทั้งสิ้น ๓๘๐,๐๐๐ บาท
       พ.ศ. ๒๕๒๒ ซ่อมแซมกุฏิอาคารไม้ สิ้นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ ๑๖๕,๐๐๐ บาท

      ครั้งหลังที่สุดที่ท่านดำริว่าอุโบสถ เจดีย์ วิหาร เสนาสนะที่เป็นของเก่า ที่ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก ถึงคราวจะต้องซ่อมสร้างให้มั่นคง บริบูรณ์ขึ้นดังเดิม ท่านจึงเริ่มวางโครงการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยจัดสร้างพระพุทธรูปบูชาขึ้นจำนวนหนึ่ง นับเป็นการสร้างพระพุทธรูปบูชาครั้งแรกของท่าน โดยจำลองจากพระประธานในอุโบสถ สำหรับให้ศิษยานุศิษย์ ตลอดจนสาธุชนทั่วไปได้นำไปสักการบูชา แล้วนำปัจจัยที่ได้รับบริจาคมาใช้ดำเนินงานปฏิสังขรณ์ งานสำเร็จลุล่วงไปได้ส่วนใหญ่ คือสามารถซ่อมพระเจดีย์วิหารทุกแห่งได้สำเร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ยังเหลือแต่อุโบสถที่ยังมิได้ลงมือซ่อมแซม ก็พอดีท่านมรณภาพลงเสียก่อน เป็นอันว่าผู้ที่อยู่ภายหลังจะต้องรับภาระนี้สืบไป

ที่มา : http://www.itti-patihan.com
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าที่ ๒ | หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก