หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)
พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)
พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)
๒๔ เมษายน ๒๔๓๑ - ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๐๕
วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
--------------------
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) มีปฏิปทาอันน่าเลื่อมใส และควรยึดถือเป็นแบบอย่าง เป็นเอนกประการ ท่านได้อุทิศตน เพื่อทำงานเผยแผ่หลักธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ภาระหน้าที่หลัก ที่ท่านถือเป็นธุระสำคัญมี 4 อย่าง ด้วยกัน คือ
(1) การปกครอง
(2) การศึกษา
(3) การเผยแผ่ และ
(4) การสาธารณูปการ

ด้านการปกครอง นั้น ท่านถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเป็นผู้นำ จะเห็นได้จากที่ท่าน เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ เป็นเวลา 39 ปี เป็นพระอุปัชฌาย์ 39 ปี เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะมณฑลอุดรธานี 3 ปี เป็นเจ้าคณะมณฑลอุดรธานี 14 ปี เป็นสมาชิกสังฆสภา 17 ปี เป็นเจ้าคณะธรรมยุตผู้ช่วยภาค 3, 4 และ 5 รวม 12 ปี ท่านปกครองพระภิกษุสามเณร และอุบาสก อุบาสิกา ด้วยหลักพรหมวิหารธรรม เป็นพระเถระที่เคร่งครัดในระเบียบวินัย

ส่วนทางด้านการศึกษา พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระธรรมเจดีย์ ก็เอาใจใส่และให้การสนับสนุนด้วยดีตลอดมา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า ท่านได้รับการฝึกอบรมสั่งสอน มาจากสำนักเรียนวัดเทพศิรินทราวาส อันเป็น ศูนย์กลางการศึกษาวิชาการทางพระพุทธศาสนา ท่านได้ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลี และท่านเป็นครูสอนปริยัติด้วยตนเอง นับตั้งแต่ สมัยที่ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ใหม่ๆ จนทำให้วัดของท่านมีชื่อเสียงโด่งดัง มีพระภิกษุสามเณรสอบได้ทั้งนักธรรม และเปรียญธรรมปีละมากๆ

นอกจากการเอาใจใส่ในงานส่วนรวมแล้ว ท่านยังมีปฏิปทา ทางด้านวัตรปฏิบัติ อันมั่นคงด้วยดีตลอดมา นั่นคือ
(1) ฉันภัตตาหารมื้อเดียว หรือ ที่เรียกว่า "เอกาสนิกังคะ"
(2) ถือไตรจีวร คือ ใช้ผ้าเพียง 3 ผืน
(3) ปฏิบัติสมถกรรมฐาน กำหนดภาวนา "พุทโธ" เป็นอารมณ์
(4) ปรารภความเพียร ขยันเจริญ สมาธิภาวนา และ
(5) เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว ท่านก็ออกตรวจการเดินทางไปเยี่ยมเยือนพระภิกษุสามเณร ซึ่งอยู่ในเขตปกครองเป็นลักษณะการไปธุดงค์ตลอดหน้าแล้ง

คุณงามความดีที่พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ได้บำเพ็ญมาด้วยวิริยะอุตสาหะ ทำให้พระเถระผู้ใหญ่ มองเห็นความสำคัญ และความสามารถของท่าน จึงได้ยกย่องเทิดทูนท่าน ไว้ในตำแหน่งทางสมณศักดิ์ตามลำดับดังนี้
พ.ศ.2463 เป็นพระครูฐานานุกรม ของ พระสาสนโสภณ (เจริญ ญาณวโร) ในตำแหน่ง พระครูสังฆวุฒิกร
พ.ศ.2468 ได้รับพระราชท่านสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรพัดยศ ที่ พระครูชินโนวาทธำรง
พ.ศ.2470 ได้รับพระราชท่านเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชคณะชั้นสามัญ ที่ พระญาณดิลก
พ.ศ.2473 ได้รับพระราชท่านเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชเวที
พ.ศ.2478 ได้รับพระราชท่านเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพกวี
พ.ศ.2488 ได้รับพระราชท่านเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเจดีย์

ธรรมโอวาท
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ได้แสดงความจริงในอารมณ์จิตของท่าน และหาวิธีระงับ ดับอารมณ์นั้น โดยไม่หลงใหลไหกับโลกธรรม อุบายนั้นท่านได้แสดงไว้ว่า
"จิตเป็นธรรมชาติที่กวัดแกว่งดิ้นรน กระสับกระส่าย แส่ไปตามอารมณ์ที่ใคร่ พอใจในเบญจกามคุณ ถึงกระนั้นก็ได้มี ทมะ คือความข่มจิตไว้ ไม่ให้ยินดียินร้ายไปตามอารมณ์ พร้อมทั้งมีสติประคับประคอง ยกย่องจิตตามอนุรูปสมัยนับว่าได้ผล คือจิตสงบ ระงับจากนิวรณูปกิเลสเป็นการชั่วคราวบ้าง เป็นระยะยาวนานบ้าง แต่ในบางโอกาสก็ควบคุมได้ยาก ซึ่งเป็นของธรรมดา สำหรับปุถุชน ต่อจากนั้นก็ได้บากบั่นทำจิตของตน ให้รู้เท่าทันสภาวธรรมนั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตื่นเต้นไปกับโลกธรรม แต่ว่าระงับได้ ในบางขณะเช่น ความรัก ความชัง อันเป็นปฏิปักขธรรมเป็นต้น เหล่านี้ยังปรากฏมีในตนเสมอ ถึงกระนั้น ก็ยังมีปรีชา ทราบอยู่เป็นนิตย์ว่า เป็นโลกิยธรรม นำสัตว์ให้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้ฝึกหัดดัดนิสัย พยายามถอนตน ออกจากโลกียธรรม ตามความสามารถ รู้สึกว่าสบายกายสบายใจอันแท้จริง ธรรมนี้เกิดจากข้อวัตรปฏิบัติในการละ พอใจยินดีอย่างยิ่ง ในความสงบ"

และอีกคราวหนึ่งท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์ โดยมีพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งติดตามไปด้วย คือ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี วันนั้นท่านได้แสดงธรรมไว้อย่างแยบคาย พอที่จะหยิบยก เอาใจความสำคัญมากล่าวไว้ในที่นี้ดังต่อไปนี้:-
"จิตของพระอริยะเจ้าแยกอาการได้ 4 อาการคือ
อาการที่ 1 อโสก จิตของท่านไม่เศร้าโศก ไม่มีปริเทวนา การร้องไห้เสียใจ จิตใจของท่านมีความสุขล้วนๆ ส่วนจิตใจของปุถุชน คนธรรมดายังหนาไปด้วยกิเลสเต็มไปด้วยความรัก ความโศกถูกความทุกข์ครอบงำ ความโศกย่อมเกิดจากความรักเป็นเหตุ เมื่อมีความรัก ก็มีความโศก ถ้าตัดความรักเสียแล้ว ความโศกจะมีแต่ที่ไหน
อาการที่ 2 วิรช จิตของพระอริยเจ้าผ่องแผ้ว ปราศจากฝุ่น ไร้ธุลี คือ ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ คงจะมีแต่พุทธะคือ รู้ ตื่น เบิกบาน
อาการที่ 3 เขม จิตของพระอริยเจ้ามีแต่ความเกษมสำราญ เพราะปราศจากห้วงน้ำไหลมาท่วมท้นห้วงน้ำใหญ่เรียกว่า "โอฆะ" ไม่อาจจะท่วมจิตของพระอริยะเจ้าได้
อาการที่ 4 จิตของพระอริยะไม่หวั่นไหวไปตามอำนาจกิเลส ไม่ตกอยู่ในห้วงแห่งอวิชชา จิตของพระอริยะมีแต่อาโลโก สว่างไสวแจ่มแจ้ง ธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เคยพบเคยเห็นตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อน และไม่เคยฟังจากใคร คราวนี้ก็แจ่มแจ้งไปเลย เพราะท่านตัดอวิชชาเสียได้"

ปัจฉิมบท
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นพระมหาเถระผู้มีบุญบารมีมากรูปหนึ่ง มีคุณธรรมสูง มีวัตรปฏิปทาอันงดงาม ซึ่งพอที่จะนำมากล่าวได้ ดังนี้
1. ธีโร เป็นนักปราชญ์
2. ปญฺโญฺ มีปัญญาเฉียบแหลม
3. พหุสฺสุโต เป็นผู้คนแก่เรียน
4. โธรยฺโห เป็นผู้เอาจริงเอาจังกับธุระทางพุทธศาสนา คือ คันถธุระและวิปัสนาธุระ
5. สีลวา เป็นผู้มีศีลวัตรอันดีงาม
6. วตวนฺโต เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธุดงควัตร
7. อริโย เป็นผู้ห่างไกลจากความชั่ว
8. สุเมโธ เป็นผู้มีปัญญาดี
9. ตาทิโส เป็นผู้มั่นคงในพระธรรมวินัย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
10. สปฺปุริโส เป็นผู้มีกาย วาจา และ ใจ อันสงบเยือกเย็น เป็นสัตบุรุษ พุทธสาวก ผู้ควรแก่การกราบไหว้ บูชาโดยแท้

ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เริ่มอาพาธมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 จนถึงเดือน มีนาคม พ.ศ.2505 คณะแพทย์ โรงพยาบาลศิริราชได้ถวายการรักษา โดยการผ่าตัดก้อนนิ่วออก รักษาจนหายเป็นปกติแล้ว เดินทางกลับวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี ต่อมาปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2505 ท่านเริ่มอาพาธอีก คณะแพทย์ซึ่งมี ศาสตราจารย์ นพ.อวย เกตุสิงห์ เป็นประธานได้นิมนต์ท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2505 โดยมีพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ร่วมเดินทางไปด้วย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ได้ถวายการรักษาด้วยการผ่าตัด ถุงน้ำดีมีก้อนนิ่ว 11 เม็ด อาการดีขึ้นเพียง 3 วัน ต่อจากนั้นอาการก็ทรุดลง ต้องให้ออกซิเจนและน้ำเกลือ วันที่ 9 กรกฎาคม 2505 ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ก็ถูกเวทนาอันแรงกล้า ครอบงำ แต่ท่านก็มิได้แสดงอาการใดๆ ให้ปรากฏ จนกระทั่งวันที่ 11 กรกฎาคม 2505 พระธรรมเจดีย์ก็ถึงแก่กรรม มรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อเวลา 15.27 นาฬิกา ณ โรงพยาบาลศิริราช ท่านได้ละสังขารอันไม่มี แก่นสารนี้ไป สิริรวมอายุได้ 74 ปี 2 เดือน 15 วัน พรรษา 55

ที่มา : http://www.fungdham.com
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าที่ ๒ | หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก