หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระวังคีสเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๒๙. พระวังคีสเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีปฏิภาณ คือ ความสามารถในการผูกบทกวีคาถา

พระวังคีสะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ นครสาวัตถี ได้รับการศึกษาจบไตรเพท จนมี ความชำนาญ เป็นที่พอใจของอาจารย์ จึงให้เรียนมนต์พิเศษอีกอย่างหนึ่งชื่อว่า “ฉวสีสมนต์” ซึ่งเป็นมนต์ เครื่องพิสูจน์ศีรษะซากศพมนุษย์ แม้จะตายไปแล้วถึง ๓๐ ปี โดยใช้นิ้วเคาะ หรือดีดที่ หัวของศพ หรือกะโหลก ก็จะรู้ว่าเจ้าของศีรษะ หรือกะโหลกนั้น ตายแล้วไปเกิดเป็นอะไร เกิดที่ ไหน ท่านมีความเชี่ยวชาญในมนต์นี้มาก จึงได้อาศัยมนต์นี้เป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต และเริ่มมีชื่อ เสียงเลื่องลือมากขึ้น

รับจ้างดีดกะโหลก
ต่อมา เขาได้ตั้งเป็นคณะมีผู้ร่วมงานทำกันเป็นระบบ มีการโฆษณาชักชวนให้คนมาใช้ บริการ และตระเวนทั่วไปตามเมืองต่าง ๆ

ด้วยวิธีการอย่างนี้ ประชาชนได้นำหัวกะโหลก ของญาติที่ตายไปแล้ว มาให้พิสูจน์กันมาก มาย ชาวคณะของวังคีสะ ได้รับสิ่งตอบแทนมากขึ้น ซึ่งมีทั้งสิ่งของ อาหาร และเงินจำนวนมาก ทำให้มีฐานะร่ำรวยขึ้น พวกเขาได้ท่องเที่ยวไปตามเมืองต่าง ๆ แล้ว ย้อนกลับมายังเมืองสาวัตถี พักอยู่ในที่ไม่ไกล จากประตูพระเชตะวันมหาวิหารมากนัก ได้เห็นประชาชนถือดอกไม้ และ เครื่องสักการะ ไปยังวัดพระเชตวัน จึงถามว่า
“ท่านทั้งหลาย จะไปไหนกัน ?”
“พวกเรา จะไปฟังเทศน์ที่วัดพระเชตวัน” พุทธบริษัทตอบ
“ท่านทั้งหลาย มาหาวังคีสะดีกว่า เพราะท่านสามารถรู้ว่าคนที่ตายไปแล้ว ไปเกิดเป็น อะไร ไปเกิดที่ไหน” พวกคณะของวังคีสะชักชวน

“ในโลกนี้ ไม่มีผู้ใด จะรู้เท่าเทียมพระพุทธเจ้าของพวกเราได้หรอก” พุทธบริษัทแย้งขึ้น
การโต้ตอบ กลายเป็นการโต้เถียงเริ่มรุนแรงขึ้น ไม่เป็นที่ยุติ กลุ่มของวังคีสะ จึงตามไป ที่พระเชตะวันมหาวิหาร เพื่อพิสูจน์ความสามารถว่า ใครจะเหนือกว่ากัน

พระพุทธองค์ ทรงทราบวัตถุประสงค์ของกลุ่มวังคีสะได้ดี จึงรับสั่งให้นำกะโหลกคนตายมา ๕ กะโหลก คือ:-
๑. กะโหลกคนที่ตายไปเกิดในนรก
๒. กะโหลกคนที่ตายไปเกิดในสวรรค์
๓. กะโหลกคนที่ตายไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน
๔. กะโหลกคนที่ตายไปเกิดเป็นมนุษย์
๕. กะโหลกของพระอรหันต์

เมื่อได้กะโหลกศีรษะมาครบแล้ว ได้มอบให้วังคีสะตรวจสอบดูว่า เจ้าของกะโหลกเหล่านั้นไปเกิดที่ไหน

วังคีสะ เคาะกะโหลกเหล่านั้นมาตามลำดับ และทราบสถานที่ไปเกิดถูกต้องทั้ง ๔ กะโหลก แต่พอมาถึงกะโหลกสุดท้าย ซึ่งเป็นกะโหลกของพระอรหันต์ ไม่สามารถจะทราบได้ ไม่มีเสียงตอบจากเจ้าของกะโหลก ว่าไปเกิดที่ไหน จึงนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง

พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า:-
“วังคีสะ เธอไม่รู้หรือ ?”
“ข้าพระพุทธเจ้า ไม่รู้ พระเจ้าข้า”
“วังคีสะ ตถาคตรู้”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงทราบด้วยมนต์อะไร พระเจ้าข้า”
“ด้วยกำลังมนต์ของตถาคตเอง”

บวชเพื่อเรียนมนต์
ลำดับนั้น วังคีสะ ได้กราบทูลขอเรียนมนต์นั้น จากพระบรมศาสดา ซึ่งพระพุทธองค์ก็ ทรงรับจะสอนมนต์นั้นให้ แต่มีข้อแม้ว่า ผู้เรียนจะต้องบวช จึงจะสอนให้ วังคีสะ คิดว่า ถ้าเรียน มนต์นี้จบ ก็จะไม่มีผู้เทียมได้เลย จะเป็นประโยชน์แก่อาชีพของตนเป็นอย่างยิ่ง จึงบอกให้ พราหมณ์ร่วมคณะเหล่านั้น รอยู่สัก ๒-๓ วัน เมื่อบวชเรียนมนต์จบแล้ว ก็จะสึกออกไปร่วมคณะ กันต่อไป

เมื่อวังคีสะบวชแล้ว พระบรมศาสดาประทานพระกรรมฐาน มีอาการ ๓๒ เป็นอารมณ์ รับสั่งให้สาธยาย ท่องบริกรรม พร้อมทั้งพิจารณาไปด้วย

ฝ่ายพราหมณ์ที่คอยอยู่ ก็มาถามเป็นระยะ ๆ ว่าเรียนมนต์จบหรือยัง วังคีสะ ก็ตอบว่ากำลังเรียนอยู่ โดยเวลาล่วงไปไม่นานนัก ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา พวกพราหมณ์เหล่านั้น เห็นว่าท่านไม่หวนกลับสึกออกมา ประกอบอาชีพฆราวาส เช่นเดิมอีกแล้ว จึงได้แยกย้ายกันไปตามอัธยาศัยของ ตน ๆ

ได้รับยกย่องในตำแหน่งเอตทัคคะ
พระวังคีสะ เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วได้เป็นกำลังช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเมื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคครั้งใด ก็จะกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณบทหนึ่งอยู่เสมอ ด้วยเหตุ นี้ พระบรมศาสดาทรงยกย่องท่าน ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้มีปฏิภาณ คือ ความสามารถในการผูกบทกวีคาถา

ท่านดำรงอายุสังขาร สมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- ประวัติพระวังคีสเถระ หนึ่งในอสีติมหาสาวก (พระมหาสาวก ๘๐)


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก