หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระลกุณฏกภัททิยะเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๒๐. พระลกุณฏกภัททิยเถระ เอตทัคคะในทางผู้พูดเสียงไพเราะ

พระลกุณฏกภัททิยะ เกิดในตระกูลมหาเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี มีชื่อเดิมว่า “ภัททิยะ” เมื่อเจริญวัยอายุมากขึ้น แต่ร่างกายของท่านไม่เจริญเติบโตตามอายุ ยังคงมีร่างกายเล็กต่ำเตี้ย เหมือนเด็กวัย ๑๐ ขวบ ชนทั่วไปเมื่อจะจึงเรียกชื่อท่านก็จะเพิ่มคำว่า “ลกุณฏกะ” ซึ่งหมายถึง ต่ำเตี้ย ไว้ข้างหน้า ชื่อของท่านด้วย จึงเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ท่านภัททิยะเตี้ย หรือ ท่านภัททิยะ แคระ

คนแคระก็บวชได้
ในโอกาสที่พระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร หมู่อุบาสก อุบาสิกา ชาวเมืองสาวัตถุ ทราบข่าวการเสด็จมาของพระพุทธองค์ ต่างก็ถือดอกไม้และของหอม เครื่องสักการะทั้งหลาย ไปเข้าเฝ้าเพื่อฟังพระธรรมเทศนา ลกุณฏกภัททิยะ ก็ได้ติดตามไปร่วม ฟังธรรมด้วย เมื่อพระพุทธองค์แสดงพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว ท่านก็เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า ปรารถนาที่จะบวชในพระพุทธศาสนา เมื่ออุบาสกอุบาสิกา พากันกลับเคหสถานของตน แล้วได้ เข้าไปกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ประทานให้ตามความประสงค์

พระลกุณฏกภัททิยะ ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ได้เรียนพระกรรมฐานในสำนักของ พระบรมศาสดาแล้ว กราบทูลขอปลีกตัวออกไปจากหมู่คณะไปอยู่ในที่อันสงบสงัดปฏิบัติความ เพียร ไม่นานนักก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นต้นคือพรโสดาบัน ซึ่งจะต้อง เพียรศึกษาปฏิบัติให้ได้บรรลุมรรคผลชั้นสูงขึ้นอีก

เพราะความที่ท่านมีรูปร่างเล็กและเตี้ย จึงเป็นที่ชวนหัวเราะแก่ผู้พบเห็น วันหนึ่ง หญิง แพศยานั่งรถมากับพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่ง เพื่อไปเที่ยวชมมหรสพ นางผ่านมาเห็นพระเถระแล้ว คงจะเห็นว่าท่านตัวเล็ก ทั้ง ๆ ที่ดูลักษณะน่าจะมีอายุมาก นางจึงหัวเราะลั่นจนมองเห็นฟันใน ปาก

พระเถระเห็นฟันของหญิงแพศยานั้นแล้ว ถือเอานิมิตนั้นเป็นอารมณ์พิจารณาว่าเห็นของ ปฏิกูล สกปรก น่าเกลียด จนได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี และต่อมาท่านได้ฟังธรรมกถา อันเป็น โอวาทจากพระสารีบุตรเถระ จิตก็หลุดพ้นจากกิเลสาสวะ สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ถูกล้อเลียนว่าเป็นสามเณร
พระลกุณฏกภัททิยะ นั้น เพราะความท่านเป็นผู้มีรูปร่างเล็กและเตี้ยเหมือนสามเณร จึงเป็นเหตุให้ พระหนุ่มสามเณรน้อยทั้งหลายที่เป็นปุถุชน ชอบล้อเลียนท่านด้วยความคึกคะนอง ชอบหยอกล้อท่านเล่น ด้วยการจับศีรษะบ้าง ดึงหูบ้าง จับจมูกบ้าง แล้วพูดหยอกล้อท่านว่า:- “แนะสามเณรน้อย ไม่อยากสึกหรือ ยังชอบใจประพฤติพรหมจรรย์อยู่อีกหรือ ?”

และครั้งหนึ่ง มีภิกษุประมาณ ๓๐ รูป มาจากถิ่นอื่น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้เดินสวน ทางกับ พระลกุณฏกภัททิยะ ซึ่งท่านเพิ่งมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์แล้วก็กลับไป พระพุทธองค์ ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า:-

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นพระเถระรูปหนึ่งเดินสวนทางไปหรือไม่ ?”
“ไม่เห็น พระเจ้าข้า”
“พวกเธอเห็น มิใช่หรือ ?”
“เห็นแต่สามเณรองค์เล็ก ๆ เดินสวนทางไป พระเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย นั่นแหละ คือพระเถระ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูปร่างของท่านเล็กเหลือเกิน พระเจ้าข้า”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่เรียกบุคคลว่า “เถระ” เพราะความเป็นคนแก่ มีผม บนศีรษะหงอก และเพียงสักแต่ว่า นั่งบนอาสนะพระเถระเท่านั้น ท่านเหล่านั้น ตถาคตเรียกว่า “พระแก่เปล่า” ส่วนท่านที่มีสัจจะ คือริยสัจ ๔ มีธรรมะ มีความสำรวม รู้จักข่มใจ ไม่เบียด เบียนผู้อื่น และมีปัญญา ท่านเหล่านี้ ตถาคตเรียกว่า “เถระ”

ได้รับยกย่องว่าพูดเสียงไพเราะ
พระลกุณฏกภัททิยะ แม้จะมีร่างกายที่ไม่ปกติและไม่เหมือนกับภิกษุอื่น ๆ อันเป็นหตุ ให้ท่านถูกล้อเลียนด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ท่านก็ไม่เคยโกรธเคืองเลย เพราะท่านเป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ ไม่มีกิเลสาสวะ แล้ว นอกจากนี้ท่านยังมีความสามารถพิเศษ คือปกติท่านแสดงธรรม สั่งสอนพุทธศาสนิกชน และเจรจาประกอบด้วยถ้อยคำ และน้ำเสียงอันไพเราะ เป็นที่เสนาะโสต แก่ผู้ฟังทั้งหลาย อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความเลื่อมใส

ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่ง เอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลายในทาง ผู้พูดเสียงไพเราะ

ท่านพระลกุณฏกภัททิยะ ดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระศาสนาอยู่พอสมควรแก่กาล เวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- ประวัติพระลกุณฏกภัททิยเถระ หนึ่งในอสีติมหาสาวก (พระมหาสาวก ๘๐)


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก