หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระกาฬุทายีเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๖. พระกาฬุทายีเถระ - เอตทัคคะในทางผู้นำตระกูลให้เลื่อมใส

พระกาฬุทายี เป็นบุตรของมหาอำมาตย์ในกรุงกบิลพัสดุ์ และเป็นสหชาติอีกคนหนึ่งที่ เกิดพร้อมกันกับเจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร เดิมท่านชื่อว่า “อุทายี” แต่เพราะท่านมีผิวดำ คนทั่ว ไปจึงเรียกท่านว่า “กาฬุทายี” เมื่ออยู่ในวัยเด็กก็เป็นพระสหายเล่นกันมากับเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อ เจริญเติบโตแล้ว ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กติดตามเจ้าชายสิทธัตถะ นับว่าเป็นผู้มีความสนิทสนม คุ้นเคยกับพระมหาบุรุษเป็นอย่างมาก

ครั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชาแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะ พระบิดา คอยติด ตามสดับรับฟังข่าวตลอดเวลา ครั้นได้ทราบว่าพระราชโอรสของพระองค์บำเพ็ญความเพียรทุกข กิริยาเป็นเวลา ๖ พรรษา นั้น บัดนี้ ได้บรรลุอมตธรรม สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ สมดังคำ พยากรณ์ของท่านอสิตดาบสและพราหมณ์ทั้ง ๘ คนแล้ว เสด็จเที่ยวประกาศพระธรรมคำสอน ของพระองค์ตามคามนิคมต่าง ๆ ขณะนี้ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหารใกล้เมืองราชคฤห์ พระพุทธบิดา ทรงตั้งพระทัยคอยอยู่ว่า เมื่อไรหนอ พระพุทธองค์จะเสด็จมาสู่พระนคร กบิลพัสดุ์ ครั้งไม่มีข่าวว่าจะเสด็จมาเลย ก็เกิดความเล่าร้อนพระทัยปรารถนาจะได้ทอดพระ เนตรเห็นสมเด็จพระบรมศาสดาโดยเร็ว จึงได้จัดส่งอำมาตย์พร้อมด้วย บริวาร ๑,๐๐๐ คน ให้ ไปกราบทูลอาราธนาเสด็จมายังพระนครกบิลพัสดุ์

แต่อำมาตย์และบริวารเหล่านั้น เมื่อเดินทางไปถึงกรุงราชคฤห์แล้ว รีบตรงไปยัง พระเวฬุวันมหาวิหารโดยเร็ว ขณะนั้น พระพุทธองค์กำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนา อยู่ใน ท่ามกลางพุทธบริษัท คณะอำมาตย์จึงหยุดคอยโอกาสที่จะกราบทูลอาราธนา และขณะที่รอคอย อยู่นั้นก็ได้สดับพระธรรมเทศนาไปด้วย เมื่อจบพระธรรมเทศนาลง อำมาตย์และบริวารได้บรรลุ พระอรหัตผลด้วยกันทั้งหมดแล้วกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ประทานด้วยเอหิ ภิกขุอุปสัมปทา

เมื่ออุปสมบทแล้ว ทั้งอำมาตย์และบริวารก็สงบเสงี่ยมอยู่ตามสมณวิสัย จึงมิได้กราบทูล อาราธนาพระบรมศาสดา ตามภารกิจที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงมอบหมายมา

ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ คอยสดับข่าวอยู่ด้วยความกระวนกระวายพระทัย เมื่อข่าวเงียบ หายไป อีกทั้งอำมาตย์ก็มิได้กลับมากราบทูลให้ทรงทราบและพระบรมศาสดาก็มิได้เสด็จมา จึง ส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารอีกเท่าเดิม ชุดใหม่ให้ไปกราบทูลอาราธนา แต่อำมาตย์ชุดนี้เมื่อไป ถึงได้ฟังพระธรรมเทศนาได้บรรลุพระอรหัตผลทั้งหมด กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทเหมือน คณะแรก ซึ่งเป็นธรรมดาว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายตั้งแต่ได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ย่อมสังวร สำรวมอยู่ในอริยภูมิ จึงมิได้กราบทูลข่าวสารของพระพุทธบิดาทำให้พระเจ้าสุทโธทนะ ต้องส่ง อำมาตย์ไปโดยทำนองนี้ถึง ๙ ครั้ง

ในที่สุดทรงพิจารณาเห็นว่า กาฬุทายีอำมาตย์ คงจะช่วยให้ สำเร็จสมพระประสงค์ได้ เพราะเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นพระสหายเล่นฝุ่นกันมา เมื่อครั้งยังทรง พระเยาว์ เป็นที่สนิทสนมแห่งพระบรมศาสดา จึงส่งไปพร้อมด้วยบริเวณจำนวนเท่าเดิม กาฬุทายีอำมาตย์ รับสนองพระราชโองการว่า จะพยายามกราบทูลสมเด็จพระบรม ศาสดา ให้เสด็จมาสู่พระนครกบิลพัสดุ์ให้สมพระราชประสงค์ให้จงได้ และได้กราบทูลเพื่อขอ บรรพชาอุปสมบทในพุทธศาสนา ในโอกาสนี้ด้วย

เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงออกเดินทางพร้อม ด้วยบริวาร ถึงกรุงราชคฤห์ แล้วเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร พระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรมโปรดจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ประทานอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธ ศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น

เมื่อ พระกาฬุทายี บวชแล้วได้ ๘ วัน ก็สิ้นเหมันตฤดู ย่างเข้าสู่ฤดูคิมหันต์ ถึงวันเพ็ญ เดือน ๔ พอดี ท่านคิดว่า
“พรุ่งนี้ ก็ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน บรรดากสิกรชาวนาทั้งหลาย ก็จะเกี่ยวข้าวกันแล้วเสร็จ หน ทางที่จะเสด็จสู่กบิลพัสดุ์ ก็จะสะดวกสบาย ดอกไม้นานาพรรณก็เกลื่อนกล่นพื้นพสุธา พฤกษา ชาติใหญ่น้อยที่ขึ้นอยู่ริมทาง ก็ให้ร่มเงาเย็นสบายนับว่าเป็นเวลาอันสมควรที่พระบรมศาสดาจะ เสด็จไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อสงเคราะห์พระประยูรญาติในบัดนี้”

พระกาฬุทายี จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับกราบทูลสรรเสริญหนทาง เสด็จว่า:-
“พระพุทธเจ้าข้า หนทางไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์บุรี เป็นวิถีทางสะดวกสบายตลอดสาย ยาม เมื่อแสงแดดแผดกล้า ก็มีร่มไม้ได้พักอาศัยเป็นที่หลบร้อนตลอดระยะทาง ๖๐ โยชน์ หากพระ องค์จะทรงบำเพ็ญปรหิตประโยชน์เสด็จโปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์นคร ก็จะเป็นที่ สำราญพระวรกาย ไม่ต้องรีบร้อนแม้แต่พระสาวกที่ติดตามก็จะไม่ลำบากด้วยน้ำและกระยาหาร ด้วยตามระยะทาง มีโคจรคามเป็นที่ภิกขาจารตลอดสาย”

“อนึ่ง พระพุทธบิดา ก็มีพระทัยมุ่งหมายใคร่จะได้ทอดพระเนตร พระองค์พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์ทั้งปวง หากพระองค์จะทรงพระกรุณาเสด็จไปโปรดให้สมมโนรถของพระชนกนาถ ตลอดพระประยูรญาติษากยวงศ์ และประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงที่กบิลพัสดุ์บุรี ก็จะเป็น เกียรติเป็นศรีแก่พระพุทธศาสนา นำมาซึ่งคุณประโยชน์สุขแก่ปวงมหาชน เพื่อทรงโปรดพระ ชนกนาถ และพระประยูรญาติให้ปีติยินดี ในคราวครั้งนี้เถิด”

สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงสดับสุนทรกถาที่พระกาฬุทายี กราบทูลพรรณารวม ๖๔ คาถา ก็ทรงอนุโมทนาสาธุการทรงรับอารธนาตามคำกราบทูลของท่านแล้ว ตรัสสั่งให้ท่านไป แจ้งข่าวแก่พระสงฆ์สาวกทั้งหลาย ให้ตระเตรียมการเดินทางไกล ณ กาลบัดนี้

แจ้งข่าวพระบรมศาสดาเสด็จ
พระกาฬุทายีเถระ แจ้งข่าวให้พระสงฆ์ทั้งปวงทราบ ตามพระบัญชาบรรดาพระสงฆ์ เหล่านั้น ก็พากันตระเตรียมบาตร จีวร และบริขารอื่น ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้วกราบทูลให้ทรง ทราบ สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จพุทธดำเนินพร้อมด้วยพระสงฆ์ ๒๐,๐๐๐ รูป เป็นบริวาร เสด็จจากรุงราชคฤห์สู่กรุงกบิลพัสดุ์โดยมิได้รีบร้อน เดินทางได้วันละโยชน์ (๑๖ กม.) เป็นเวลา ๖๐ วันพอดี

ส่วน พระกาฬุทายีเถระ คิดว่า “เราควรจะไปแจ้งข่าวให้สมเด็จพระเจ้าสุทโธทนะทรง ทราบการเสด็จมาของพระบรมศาสดา” จึงล่วงหน้ามาแจ้งข่าวเป็นระยะ ๆ ทุก ๆ วัน พระเจ้าสุทโธทนะ ได้ถวายภัตตาหารแก่พระเถระแล้ว บรรจุพระกระยาหารอีกส่วน หนึ่ง ให้พระเถระนำไปถวายพระพุทธองค์ เป็นประจำทุกครั้งที่พระเถระมาแจ้งข่าว

ฝ่ายพระประยูรญาติ ทั้งฝ่ายศากยะและฝ่ายโกลิยะ ได้ทราบข่าวว่าพระองค์กำลังเสด็จ มาสู่พระนครกบิลพัสดุ์ ก็ปีติโสมนัสเบิกบานอย่างยิ่ง และได้ประชุมปรึกษาหารือตกลงเห็นพ้อง ต้องกันว่า อุทยานของพระนิโครธศากยราชกุมารนั้น เป็นรมณียสถานสมควรเป็นที่ประทับของ พระบรมศาสดาจึงร่วมกันสร้างพระคันธกุฎี และเสนาสนะที่พักสำหรับภิกษุสงฆ์ลงในที่นั้น ถวายเป็นพระอารามในพระพุทธศาสนาชื่อว่า “นิโครธาราม

ด้วยเหตุที่ พระกาฬุทายี เป็นทั้งราชทูตของพระเจ้าสุทโธทนะ ไปกราบทูลอาราธนา พระบรมศาสดา และเป็นสมณทูตพยายามไปแจ้งข่าวสารการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคต่อ พระประยูรญาติเป็นประจำ จนพระประยูรญาติเกิดศรัทธาเลื่อมใสสร้างพระอารามถวายไว้ใน พุทธศาสนา นับว่าท่านได้ทำคุณแก่พระประยูรญาติศากยวงศ์ และแก่พระศาสนาอย่าง อเนกอนันต์ พระพุทธองค์จึงทรงตั้งท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายใน ฝ่าย ผู้นำตระกูลให้เลื่อมใส

ท่าน พระกาฬุทายีเถระ ดำรงอายุสังขารช่วยกิจการพระพุทธศาสนาพอสมควรแก่กาล เวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- ประวัติพระกาฬุทายีเถระ หนึ่งในอสีติมหาสาวก (พระมหาสาวก ๘๐)


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก