หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระกังขาเรวตเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๓๓. พระกังขาเรวตเถระ เอตทัคคะในทางผู้เพ่งด้วยฌาน

พระกังขาเรวตะ เป็นบุตรเศรษฐี ในเมืองสาวัตถี เดิมชื่อว่า “เรวตะ” เป็นผู้มีศรัทธา ในพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังมิเคยเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมกถามาก่อนเลย คง เป็นด้วยอุปนิสัยวาสนาบารมีเก่าส่งเสริม

แอบนั่งฟังธรรมท้ายสุด
ต่อมาได้เห็นอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ถือดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะและของหอม ไปยังพระเชตวันมหาวิหาร จึงติดตามไปด้วยแล้วนั่งอยู่ท้ายสุด หมู่พุทธบริษัท เพราะตนเองเป็น ผู้ใหม่ รอเวลาที่พระบรมศาสดาจะทรงแสดงพระธรรมเทศนา

โดยปกติธรรมดาของพระผู้มีพระภาค ทุกครั้งก่อนที่พระองค์จะแสดงธรรม จะทรง พิจารณาตรวจดู อุปนิสัยของพุทธบริษัท ที่ประชุมกัน ณ ที่นั้น ว่าผู้ใดมีบุญวาสนาบารมีสั่งสม บารมี ซึ่งพอจะเป็นปัจจัยส่งผลให้บรรลุคุณธรรมพิเศษบ้างหรือไม่ และพิจารณาว่าธรรมหมวด ไหน เหมาะสมแก่คนฟังนั้น ๆ เมื่อทรงพิจารณาไปโดยรอบ ก็ทอดพระเนตรเห็นเรวตมาณพ เข้าสู่ ข่ายคือ พระญาณของพระองค์ ว่าเป็นผู้มีอุปนิสัยบารมีสั่งสมมาดีแต่อดีตชาติ สามารถจะบรรลุ มรรคผลได้ จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถา เพื่อขัดเกล่าอุปนิสัยให้สะอาดหมดจด ปราศจากความยินดีในกามคุณ ที่เคยบริโภคใช้สอยมาก่อน

ใจความในอนุปุพพิกถา คือถ้อยคำที่กล่าวไปโดยลำดับ ๕ ประการ คือ
๑. ทานกถา กล่าวถึงอานิสงส์ของการบริจาคทาน
๒. สีลกถา กล่าวถึงการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย
๓. สัคคกถา กล่าวถึงเรื่องสวรรค์อันอุดมด้วยทิพยสมบัติ
๔. กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษแห่งกามคุณ ๕ ว่าเป็นเหตุนำทุกข์มาให้
๕. เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึงอานิสงส์ของการออกบวชว่า เป็นอุบายที่จะให้ บรรลุพระนิพพานอันเป็นบรมสุข

เมื่อจบพระธรรมเทศนา เรวตมาณพ ก็เกิดศรัทธาแก่กล้ายิ่งขึ้น จึงกราบทูลขออุปสมบท ในพุทธศาสนา พระพุทธองค์ประทานให้ตามประสงค์ ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ท่านได้ศึกษา พระกรรมฐานจากพระบรมศาสดาแล้ว ปลีกตัวอยู่ในสถานที่อันสงบสงัด อุตสาห์บำเพ็ญเพียร พระกรรมฐานจนได้บรรลุโลกิยฌาน แล้วทำฌานที่ได้แล้วนั้น ให้เป็นพื้นฐานในการเจริญ วิปัสสนา ไม่ช้านักท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะกิเลส เป็นพระอเสขบุคคลใน พระพุทธศาสนา

เหตุที่ได้นามว่ากังขาเรวตะ
พระเรวตะนั้น ภายหลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว ขณะที่ท่านยังเป็นปุถุชนยังมิได้บรรลุ พระอรหัตผล เมื่อท่านได้รับกัปปิยวัตถุ สิ่งของเครื่องใช้ สิ่งใด ๆ มาแล้ว ท่านมักจะคิดกังขา คือ สงสัยก่อนเสมอว่า ของสิ่งนี้เป็นของถูกต้องพุทธบัญญัติ สมควรแก่บรรพชิต ที่จะใช้สอยหรือไม่ (กัปปิยะ= เป็นของควร, อกัปปิยะ = เป็นของไม่ควร) เมื่อท่านพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า เป็นของที่บรรพชิตบริโภคใช้สอยได้ไม่ผิดพระวินัย ท่านจึงใช้สอยของสิ่งนั้น

ด้วยความที่ท่าน เป็นผู้มักสงสัยอยู่เป็นประจำ จนเป็นที่ทราบกันทั่วไป ในหมู่พระภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น คำว่า “กังขา” จึงถูกเรียกรวมกับชื่อเดิมของท่านว่า “กังขาเรวตะ หมายถึง พระเราวตะผู้ชอบสงสัย” แม้ว่าภายหลังท่านได้บรรลุพระอรหัตผล สิ้นกิเลสอันเป็นเหตุแห่งวิจิกิจฉา คือความลังเล สงสัย แล้วก็ตาม นามว่ากังขาเรวตะ ก็ยังเป็นที่เรียกขานของเพื่อนสหธรรมิกอยู่ตลอดไป

ได้รับยกย่องในตำแหน่งเอตทัคคะ
พระกังขาเรวตะ เป็นผู้มีความชำนาญในฌานสมาบัติ ทั้งที่เป็นโลกิยะ และโลกุตระ แม้ กระทั่งฌานสมาบัติอันเป็นพุทธวิสัย คือ ฌานสมาบัติที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น จะพึงเจริญ มิ ได้ทั่วไปแก่พระสาวกทั้งหลาย ด้วยว่า ความสุขอันเกิดจากฌานสมาบัตินั้น ไม่มีโลกิยสุขใด ๆ ใน โลกจะเทียบเท่าได้เลย เรียกว่า “สันติสุข คือ สุขที่เกิดจากความสงบ

ส่วนสุขอันเป็นโลกีย์นั้น ต้องพึ่งพิงอิงอาศัยอามิสต่าง ๆ อันได้แก่ บุคคล สัตว์ สิ่งของ เป็นต้น เข้ามาช่วยให้เกิดความสุข และความสุขแบบโลกีย์นี้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะเมื่อยามที่ยังมีอยู่ ก็รู้สึกเป็นสุข แต่ เมื่อยามสิ่งของเหล่านั้น อันตรธานหรือชำรุดเสียหายไป ก็จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่ความสุขอัน เกิดจากฌานสมาบัตินั้น เป็นสุขที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นสุขที่เกิดจากความ ไม่มีทุกข์

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ พระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องท่าน ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้เพ่งด้วยฌาน, ผู้ยินดีในฌานสมาบัติ

ท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระศาสนาสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- ประวัติพระกังขาเรวตเถระ หนึ่งในอสีติมหาสาวก (พระมหาสาวก ๘๐)


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก